ซีรีส์สัตว์สงวนแห่งท้องทะเลไทย Ep.2
วาฬบรูด้า (Bryde's Whale) ดูหน้าดูตาหนูให้ดีถ้าพี่อยากเรียกชื่อหนูให้ถูก #Bryde'sWhale #MarineLife
ช่วงปลายปี ยามลมฟ้าและท้องทะเลเงียบสงบ ถ้าใครว่างออกไปล่องเรือไกลออกจากทะเลอ่าวไทยไปสักหน่อย รับรองได้ว่าจะได้ชื่นชมเหล่าวาฬบรูด้าขึ้นมาเล่นน้ำหาอาหารและพ่นน้ำให้ได้ยลโฉมเป็นแน่ และถ้าไปบ่อย ๆ จนคุ้นตาดีแล้วละก็ จะเรียกชื่อวาฬแต่ละตัวได้เลยนะ
ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนพยายามศึกษาประชากรวาฬบรูด้าโดยการจำแนกด้วยภาพถ่าย (Photo Identification, Photo-ID) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551- 2560 โดยอาศัยตำหนิบริเวณครีบหลัง ส่วนหัว และตำหนิบริเวณต่าง ๆ ระบุได้ว่ามีวาฬบรูด้ามากถึง 61 ตัว
และที่สำคัญ พวกเขาตั้งชื่อให้กับพวกมันทุกตัวเลยด้วย
ใครอยากรู้ก็กดดูรายชื่อได้จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เลย
โลกรู้จักกับวาฬบรูด้าในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่นายโยฮัน บรูด้า (Johan Bryde) นักธุรกิจชาวนอร์เวย์ที่ได้ไปสร้างสถานีล่าวาฬที่ประเทศแอฟริกาใต้
แต่เดิมเข้าใจกันว่าวาฬบรูด้าเป็นวาฬเพียงชนิดเดียว แต่พอมีการศึกษาและสังเกตมากขึ้นจึงพบว่ามันมีความแตกต่างที่พอจำแนกออกเป็น 3 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ Balaenoptera brydei, Balaenoptera edeni และ Balaenoptera omura
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2536 นักวิจัยชาวญี่ปุ่นได้ศึกษาสัณฐานวิทยา (Morphology) โครงกระดูก และพันธุกรรม (DNA) อย่างละเอียดจนสามารถแยกชนิด Balaenoptera omura ออกได้เป็นปลาวาฬโอมูร่า (Omura’s whale) ซึ่งเราจะนำเสนอข้อมูลใน Ep. ถัดไป
ดังนั้น เมื่อเอ่ยถึงวาฬบรูด้ายังคงหมายถึงชนิด Balaenoptera brydei และ Balaenoptera edeni ซึ่งในประเทศไทยสามารถพบเห็นพวกมันได้ทั้ง 3 ชนิดได้ทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย
วาฬบรูด้ามีลักษณะลำตัวเรียว ผิวหนังเรียบ ครีบหลังมีขนาดเล็กอยู่ค่อนไปทางส่วนหาง มีซี่กรอง (Baleen plates) แทนฟันสำหรับกรองอาหารอยู่บนขากรรไกรบน ส่วนหัวใหญ่และมีความยาวประมาณหนึ่งในสี่ของความยาวทั้งตัว มีสันที่หัว 3 สันอยู่ด้านหน้าช่องหายใจ 2 ช่อง มีแพนหางใหญ่ มีรูหูหลังลูกตาซึ่งขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับตัว และโดยทั่วไปตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย
ปกติพวกมันหากินแบบตัวเดียว เว้นเฉพาะคู่แม่ลูกที่จะอยู่ด้วยกันตลอดเวลา ซึ่งอาหารก็เป็นพวกปลาเล็กปลาน้อยต่าง ๆ โดยในแต่ละวัน พวกมันต้องการอาหารประมาณ 598-657 กก. วันทั้งวันก็มักว่ายวนเวียนอยู่ใกล้ ๆ ผิวน้ำในระยะความลึก 50 ฟุต
พวกมันชอบอากาศอบอุ่น จะพบเห็นได้ทั่วไปในเขตมหาสมุทรช่วงเส้นละติจูดที่ 40 องศาเหนือและละติดจูดที่ 40 องศาใต้ มีพวกมันบางตัวว่ายน้ำอพยพตามฤดูกาลอยู่บ้าง โดยว่ายออกจากเส้นศูนย์สูตรในช่วงฤดูร้อนและกลับไปในช่วงฤดูหนาว และก็มีบ้างที่อาศัยประจำถิ่นถาวร
สถานะของวาฬบรูด้าในท้องทะเลทั่วโลกอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งภัยคุกคามของพวกมันมีตั้งแต่ถูกใบพัดเรือจนบาดเจ็บ เสียงรบกวนต่าง ๆ ซึ่งจะรบกวนการใช้เสียงของพวกมันในการใช้ชีวิตประจำวัน และการถูกล่า
อ้างอิง