ขยะพลาสติกกว่าล้านตันไหลจากแม่น้ำออกสู่ทะเลและมหาสมุทร ถูกลมและกระแสน้ำพัดพาเข้าวังวนน้ำมหาสมุทร (Gyre) ทั้ง 5 วังวน นำพาขยะพลาสติกเข้าสู่ใจกลาง แขวนลอยรวมตัวสะสมเป็น ‘แพขยะ’
ปัจจุบันขยะพลาสติกถูกทิ้งลงสู่มหาสมุทรปีละกว่า 1.15 - 2.41 ล้านตัน เกิดเป็นขยะมลพิษล่องลอยในมหาสมุทรทั่วโลก ทั้งขวดพลาสติก ถุง ของเล่น และผลิตภัณฑ์มากมายที่เราใช้อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน
80% ของขยะพลาสติกมาจากบนบกและอีก 20% ถูกทิ้งจากเรือที่แล่นในมหาสมุทร อวนเก่าที่หลุดลอยหรือถูกทิ้ง ขยะจากแท่นขุดเจาะน้ำมัน รวมถึงขยะอุปกรณ์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นับเป็นต้นกำเนิดหลักของขยะพลาสติกในมหาสมุทร
พลาสติกกว่า 60% มีน้ำหนักเบา จึงมักลอยอยู่เหนือน้ำมากกว่าจะจมลงใต้น้ำ และเมื่อขยะเหล่านี้หลุดเข้าสู่แหล่งน้ำ มันจะถูกพัดพาออกนอกฝั่งเคลื่อนตัวตามวังวนกระแสน้ำในมหาสมุทรและมารวมตัวกัน ก่อตัวเป็นแพขยะขนาดใหญ่กระจายตัวไปทั่วมหาสมุทรของโลก
แพขยะแห่งมหาสมุทรแปซิฟิก (The Great Pacific Garbage Patch)
1 ใน 5 แพขยะพลาสติกที่ลอยอยู่กลางมหาสมุทรระหว่างฮาวายและแคลิฟอร์เนียร์ และนับเป็นแพขยะที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ ‘The Great Pacific Garbage Patch (GPGP)’ หรือ ‘แพขยะแห่งมหาสมุทรแปซิฟิก’
แพขยะแปซิฟิกครอบคลุมพื้นที่กว่า 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร มีขนาดเป็น 2 เท่าของรัฐเท็กซัสและ 3 เท่าของประเทศฝรั่งเศส และแม้จะมีขนาดมหึมาแต่กลับไม่สามารถมองเห็นได้จากดาวเทียม เพราะแพขยะลอยอยู่ใต้ผิวน้ำหรืออยู่ใกล้ผิวน้ำ
การสำรวจขนาดของมันต้องใช้เรือมากกว่า 60 ลำ อวนลอยอีกกว่า 652 อวน และขึ้นบินสำรวจ 2 ครั้ง กว่าจะครอบคลุมภาพกว้างของแพขยะได้ทั้งหมด
ซากพลาสติกในแพขยะนี้รวมแล้วมีน้ำหนักมากกว่า 80,000 ตัน เท่ากับน้ำหนักเครื่องจัมโบ้เจ็ต 500 ลำ และมีพลาสติกขนาดน้อยใหญ่ลอยอยู่ 1.8 ล้านล้านชิ้น คิดเป็น 250 ชิ้นต่อประชากรโลก 1 คน
จากการสำรวจ ขยะพลาสติกส่วนใหญ่ทำมาจากโพลีเอทิลีนและโพลีโพรพิลีน และมีซากอวนจับปลาที่ถูกทิ้งจำนวนกว่า 46% ขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งอย่างต่อเนื่องจะล่องลอยไปในมหาสมุทร สะสมหนาแน่นเพิ่มขึ้นทุกปี ก่อเกิดเป็น “แพขยะ” ขนาดใหญ่จนน่าตกใจ
เมื่อขยะพลาสติกในแปซิฟิกเหล่านี้เจอกับแสงแดด จะถูกย่อยสลายเป็นไมโครพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า เหล่าสัตว์น้ำจะกินไมโครพลาสติกนี้ เพราะคิดว่าเป็นอาหาร เท่ากับเป็นการนำพลาสติกเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ก่อให้เกิดอันตรายเป็นทอด ๆ จากจุดต่ำสุดจนถึงจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร ซึ่งก็คือมนุษย์
หากวันนี้ เราไม่เริ่มตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้น หายนะคงจะมาเยือนไม่ช้าก็เร็วเป็นแน่
กอบกู้มหาสมุทรแปซิฟิกกับ ‘The Ocean Cleanup’
การจะเก็บกวาดขยะในมหาสมุทรให้หมดไปนั้น ดูจะเป็นเรื่องน่าหนักใจ อาจกินเวลานานนับพันปี และคงต้องใช้เงินทุนหลายหมื่นหลายพันล้าน แต่นักศึกษาชาวเนเธอแลนด์ โบยัน สลัต (Boyan Slat) กลับคิดว่า
‘ทำไมถึงต้องไล่ตามเก็บขยะล่ะ ทั้งที่ขยะพลาสติกสามารถลอยมาหาคุณ’
โบยันสังเกตเห็นธรรมชาติของวังวนน้ำมหาสมุทรและปิ๊งไอเดียที่จะใช้ประโยชน์จากมันในการกำจัดแพขยะ เขาเสนอไอเดียสิ่งประดิษฐ์ดักจับขยะ โดยระดมทุนจากนักลงทุนได้กว่า 2.2 พันล้านดอลลาร์ในเวลาเพียงไม่กี่เดือน
เขาก่อตั้งองค์กร The Ocean Cleanup โดยได้รับความร่วมมือจากนักวิทยาศาสตร์นับร้อย เพื่อเดินหน้าการทำความสะอาดมหาสมุทรครั้งประวัติศาสตร์
และจากไอเดียการแก้ปัญหาของเขา ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าจะสามารถกำจัดขยะในแพขยะแปซิฟิกได้ถึง 50% ในเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น
‘ทุ่นลอยน้ำเก็บขยะ’ วิธีง่าย ๆ อาศัยพลังงานธรรมชาติ
ในการกำจัดขยะในมหาสมุทร ถ้าใช้วิธีเก็บกวาดแบบแอคทีฟ (active) ไล่ตามเก็บขยะคงใช้พลังงานเปลืองอย่างมหาศาล โบยันเลือกใช้วิธีแบบพาสซีฟ (passive) คืออาศัยประโยชน์ของวังวนกระแสน้ำมหาสมุทร
เขาประดิษฐ์ทุ่นลอยน้ำที่มีแขนรูปตัว C และมีตาข่ายที่ดักจับขยะ รวบรวมซากขยะที่ลอยอย่างไร้ทิศทาง ก่อนที่จะไปเก็บขยะออกจากมหาสมุทรที่มารวมกันที่ทุ่นนี้
ทุ่นลอยน้ำอาศัยแรงธรรมชาติของกระแสน้ำในการลอยตัว และยังสามารถทนต่อสภาวะคลื่นลมรุนแรง มีการผูกติดสมอทะเล (Sea Anchor) เพื่อลดความเร็วในการลอยไปกับกระแสน้ำ ทำให้สามารถดักจับขยะที่ถูกกระแสลมและกระแสน้ำพัดพาได้
การดักจับขยะลักษณะนี้จำเป็นต้องวางทุ่นลอยน้ำไว้สักระยะเวลาหนึ่ง ทางองค์กรจึงตั้งทีมนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญไว้คอยสังเกตและดูแลสอดส่องอยู่ตลอดเวลา เพื่อดูว่าอุปกรณ์นี้มีผลกระทบต่อชีวิตของสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมทางทะเลหรือไม่ และหาทางลดผลกระทบให้น้อยที่สุด
The Ocean Cleanup ยังมีการพัฒนาอุปกรณ์อย่างต่อเนื่อง มีการวางแผนว่าจะติดระบบไฟ GPS เรดาร์ ระบบนำทางและระบบติดตามอัตโนมัติ ซึ่งจะใช้พลังงานจากธรรมชาติทั้งหมด เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำในกรณีที่มีเรือแล่นผ่านมา โดยที่ยังคอยเฝ้าสังเกตและศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องอีกด้วย
ความสำเร็จและการพัฒนาของ The Ocean Cleanup
จากการทดสอบและพัฒนาระบบทุ่นลอยน้ำดักจับขยะเป็นเวลา 1 ปีเต็ม นับว่าได้ผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยสามารถดักจับซากขยะพลาสติกขนาดใหญ่อย่างซากอวนจับปลา ไปจนถึงขยะไมโครพลาสติกขนาดเล็กกว่า 1 มิลลิเมตรได้
‘จากจุดเริ่มต้นเมื่อ 7 ปีที่แล้ว นี่คือการทดลองปีแรกในสภาพแวดล้อมจริง แสดงให้เห็นว่าจุดมุ่งหมายของเราเป็นจริงได้ และนี่จะเป็นก้าวอันยิ่งใหญ่สู่การกำจัดขยะพลาสติกในมหาสมุทรที่สะสมมานานหลายสิบปี ’ โบยันกล่าว
การบันทึกผลและข้อมูลที่ได้จากการทดลองระบบในปี 2019 ระบุว่าพวกเขามุ่งมาถูกทางแล้ว ทางองค์กรได้เริ่มพัฒนาระบบอย่างเต็มรูปแบบเพื่อที่จะปล่อยออกสู่มหาสมุทร ซึ่งคาดว่าหากนำระบบนี้มาใช้ทำความสะอาดมหาสมุทรทั่วโลกจะสามารถกำจัดปริมาณขยะพลาสติกออกได้ถึง 90% ภายในปี 2050
The Ocean Cleanup ยังมีโครงการนำขยะพลาสติกเหล่านี้กลับขึ้นฝั่งและรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนอีกด้วย
ความมั่นคงแน่วแน่ของทีมงานในการกอบกู้มหาสมุทรครั้งนี้ เชื่อว่าจะพลิกฟื้นมหาสมุทรของเราให้กลับมาสวยงามอีกครั้ง
แต่ถึงที่สุดแล้ว หากพวกเรายังไม่ได้แก้ปัญหาเหล่านี้ที่ต้นตอ ภารกิจของโบยันคงจะยืดยาวไปแบบไม่มีวันสิ้นสุด
หวังว่าเมื่อทุกคนได้รับรู้และตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหานี้แล้ว จะไม่นิ่งนอนใจและช่วยกันคนละไม้คนละมือใช้และทิ้งพลาสติกให้น้อยลง หรือเลี่ยงไปได้เลยก็จะดีที่สุด
อ้างอิง