พลเรือเอกแห่งน่านน้ำมหาสมุทร (Admiral of Ocean Sea) นักสำรวจและนักเดินเรือชาวอิตาลี ผู้พิสูจน์ว่าโลกกลม ซึ่งได้เดินทางบุกเบิกข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก เปิดประตูสู่ทวีปอเมริกา เชื่อมโลกเก่าและโลกใหม่เข้าด้วยกัน ชายผู้มีนามว่า ‘คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus)’
เส้นทางชีวิตของชายที่ถูกจารึกไว้ให้เป็นอีกหนึ่งตำนานของนักเดินเรือ เพราะมีความคิดสวนทาง จึงนำพาให้เขาค้นพบโลกใหม่ ที่ได้เปลี่ยนแปลงอารยธรรมของมนุษยชาติไปตลอดกาล
จุดเริ่มต้นของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส
คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสเกิดราวปี ค.ศ. 1451 ที่เมืองเจนัว (Genao) ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอิตาลี เรื่องราวสมัยเด็กของเขานั้นไม่มีใครทราบแน่ชัด
เขาหลงใหลการเดินเรือตั้งแต่เด็ก เริ่มทำงานบนเรือสินค้าสัญชาติโปรตุเกสเมื่อมีอายุได้ 20 ปี
ทว่าโชคกลับไม่เข้าข้าง ในปี ค.ศ. 1476 โคลัมบัสเกือบต้องสังเวยชีวิตให้กับท้องทะเล เพราะเรือสินค้าถูกโจรสลัดฝรั่งเศสโจมตีจนเรืออับปาง เขาและบาร์โธโลมิว (Bartholomew) น้องชายต้องลอยคอเกาะแผ่นไม้ไปขึ้นฝั่งที่โปรตุเกส
เขาอาศัยอยู่ที่เมืองลิสบอนกับน้องชาย ซึ่งทั้งสองยึดอาชีพนักสร้างแผนที่ ต่อมาโคลัมบัสได้แต่งงานกับ เฟลิปา โมนิซ เพเรสเตรโญ (Felipa Moniz Perestrello) หญิงสาวชาวโปรตุเกสและมีลูกชายด้วยกันชื่อ ดิเอโก้ (Diego)
ช่วงเวลานั้น เขาเริ่มศึกษาศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ การเดินเรือ รวมถึงประวัติศาสตร์ นับว่านี่คือจุดเริ่มต้นชีวิตของโคลัมบัสในฐานะนักสำรวจและนักเดินเรือในตำนานที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด
แผนการที่ยิ่งใหญ่กับความเชื่อที่ถูกต่อต้าน
สมัยนั้น ดินแดนตะวันออกไกลหรือทวีปเอเชียขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มั่งคั่งและอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรมากมาย อาทิเช่น เครื่องเทศ ผ้าไหม ทอง เครื่องประดับ ซึ่งเป็นที่ต้องการของชาวตะวันตก
เหล่าพ่อค้าชาวยุโรปใช้เส้นทางสายไหมเดินทาง เพื่อทำการค้าขายและนำสินค้าเหล่านั้นกลับมา ทำกำไรได้อย่างงาม แต่หลังจากพวกมุสลิมเข้ายึดครองกรุงคอนสแตนติโนเปิล การค้าระหว่างตะวันออกกับตะวันตกต้องหยุดชะงักไป
ดังนั้น ชาวตะวันตกจึงต้องสำรวจหาเส้นทางทางทะเลแทน ซึ่งการออกเดินเรือไปยังดินแดนตะวันออกนั้นต้องอ้อมผ่านแหลมกู๊ดโฮปทางแอฟริกา แต่ด้วยเส้นทางที่ไกลดูไร้จุดหมาย จึงไม่เคยมีใครทำได้สำเร็จ
โคลัมบัสกลับคิดต่างออกไป เขาเชื่อว่าโลกกลม จึงได้คิดแผนการที่จะล่องเรือไปทางตะวันตก ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมุ่งสู่เอเชีย เพื่อร่นระยะการเดินเรือและหลีกเลี่ยงการผ่านอาณาเขตปกครองของมุสลิม
ผู้คนต่างหัวเราะเยาะในความคิดอันสวนทางของเขา อีกทั้งการเดินทางข้ามมหาสมุทรอันกว้างใหญ่จำเป็นต้องมีเสบียงและใช้เงินทุนมหาศาล ไม่มีทางเป็นไปได้อย่างแน่นอน
แต่เพื่อที่จะบรรลุความฝันนี้ โคลัมบัสจึงเดินหน้าหาผู้สนับสนุนเงินทุนในแผนการของเขา
ออกเดินเรือสู่โลกใหม่
โคลัมบัสเข้าเสนอแผนการเดินเรือกับราชสำนักโปรตุเกสเพื่อขอทุนทรัพย์แต่ถูกปฏิเสธ เพราะเหล่าผู้เชี่ยวชาญไม่เห็นด้วยกับความคิดเขา แม้จะฟังดูเข้าท่า เลี่ยงการผ่านอาณาเขตปกครองของพวกมุสลิมได้ แต่การคำนวณระยะการเดินทางของเขามีความผิดพลาดอย่างมหันต์
เขายังไม่หมดความตั้งใจกับแผนการนี้ จึงได้นำแผนการดังกล่าวเข้าเสนอต่อทางราชสำนักอังกฤษและฝรั่งเศส แต่ก็ถูกปฏิเสธอีกเช่นกัน
ปี ค.ศ. 1485 ภรรยาของเขาเสียชีวิตลง เขาจึงพาลูกชายย้ายถิ่นฐานไปตั้งรกรากที่สเปน
ต่อมาปี ค.ศ. 1486 โคลัมบัสมีโอกาสได้เข้าเฝ้ากษัตริย์สเปน พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 2 แห่งอารากอนและพระราชินีอิซาเบลที่ 1 แห่งคาสตีล เขานำเสนอแผนการเดินเรือไปทางตะวันตกของเขาอีกครั้ง
แต่เนื่องจากสเปนกำลังสู้รบกับชาวมุสลิมอยู่ในขณะนั้น เขาจึงถูกปฏิเสธ
จนเมื่อสเปนชนะสงครามที่กรุงกรานาดาในปี ค.ศ. 1492 โครงการของโคลัมบัสก็ได้รับการอนุมัติ
พระเจ้าเฟอร์ดินานด์เชื่อว่า แผนการนี้จะทำให้จักรวรรดิสเปนร่ำรวยมั่งคั่ง ได้ครอบครองดินแดนแห่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์
สเปนจึงทำข้อตกลงว่า จะมอบตำแหน่งให้โคลัมบัสเป็น “พลเรือเอกแห่งน่านน้ำมหาสมุทร” ให้อำนาจในการปกครองดินแดนที่ค้นพบ และได้ส่วนแบ่ง 1 ใน 10 ของรายได้ที่ได้จากดินแดนเหล่านั้น
ในที่สุด วันที่ 3 สิงหาคม 1492 โคลัมบัสได้ออกเดินเรือมุ่งหน้าสู่มหาสมุทรแอตแลนติก พร้อมด้วยเรือซานต้า มาเรีย (Santa Maria) แล่นขนาบไปด้วยเรือนิญ่า (Niña) และเรือปินต้า (Pinta)
เป็นเวลามากกว่า 2 เดือนที่ต้องล่องลอยอยู่กลางมหาสมุทร เขาและลูกเรือต่อสู้กับความท้อแท้และความเคว้งคว้างกลางทะเล และสุดท้ายเขาก็เห็นแผ่นดินจริง ๆ กองเรือได้รับการต้อนรับจากชาวพื้นเมืองเป็นอย่างดี เขาเรียกชาวพื้นเมืองว่า “ชาวอินเดียน (Indians)” เพราะคิดว่าแผ่นดินนั้นคือทางตะวันออกของอินเดีย ซึ่งความจริงแล้ว มันคือหมู่เกาะบาฮามาส
โคลัมบัสออกเดินทางต่อไป เพื่อสำรวจเกาะต่าง ๆ แถบนั้น ค้นหาแหล่งทรัพยากรเครื่องเทศ เครื่องประดับ ทอง หรือสมบัติตามที่เขาได้สัญญาไว้กับทางราชสำนักสเปน แต่ก็หาไม่พบ
ระหว่างนั้นเกิดอุบัติเหตุ เรือซานต้ามาเรียอับปางลงในแนวปะการังแถบหมู่เกาะฮิสปาเนียลา เขาต้องสละเรือ และด้วยความช่วยเหลือของชาวเกาะ เขาได้นำไม้จากซากเรือซานต้ามาเรียมาสร้างป้อมปราการ ‘ลา นาวิดัด (La Navidad)’
และด้วยคิดว่าเขาได้บรรลุเป้าหมายการพิชิตเส้นทางสู่เอเชียแล้ว โคลัมบัสจึงเดินทางกลับสเปน โดยทิ้งลูกเรือจำนวนหนึ่งไว้ดูแลป้อม
การกลับมาของโคลัมบัสพร้อมความสำเร็จในการบุกเบิกเส้นทางสู่ดินแดนตะวันออกได้รับการต้อนรับอย่างดีจากราชสำนัก ซึ่งนี่นับเป็นการเปิดสู่ศักราชใหม่ของจักรวรรดิสเปน
การเดินเรือครั้งต่อมา
โคลัมบัสออกเดินเรืออีกครั้งเพื่อสำรวจหมู่เกาะและดินแดนเพิ่มเติมทางแถบทะเลแคริบเบียน และแสวงหาทองเพื่อนำกลับไปให้กษัตริย์สเปน ระหว่างเดินเรือผ่านฮิสปาเนียลา เขาพบว่าป้อมลา นาวิดัดถูกเผาทำลาย ลูกเรือทั้งหมดถูกสังหารไม่เหลือ
เขาเกณฑ์ชาวพื้นเมืองมาเพื่อสร้างป้อมขึ้นอีกครั้ง และเริ่มทำการสำรวจขุดหาทอง โดยเชื่อว่าจะนำมาซึ่งกำไรมหาศาล แต่กลับต้องผิดหวัง เพราะนอกจากจะหาทองได้น้อยแล้ว ยังสร้างความขุ่นเคืองใจและความเกลียดชังให้กับชาวพื้นเมืองอีก
ก่อนจะเดินทางกลับสเปน เขาทิ้งบาร์โธโลมิวและดิเอโก้ไว้เพื่อจัดการควบคุมการแสวงหาทองที่ฮิสปาเนียลา ก่อนออกล่องเรือต่อเพื่อสำรวจแถบทะเลนั้นอีก เขาได้ค้นพบหมู่เกาะใหม่ที่เขาเข้าใจว่าเป็นเกาะรอบนอกของแผ่นดินจีน
กว่าโคลัมบัสจะค้นพบแผ่นดินใหญ่นั้น ก็ในการออกเดินทะเลครั้งที่ 3 ช่วงนั้นความไม่พอใจของชาวพื้นเมืองที่ทำงานขุดทองเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นจนเกิดการจลาจล เนื่องจากการกดขี่ข่มเหงและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายของเขาและบาร์โธโลมิว
การรายงานความล้มเหลวในการขุดหาทองและความไม่พอใจในผลงานของเขา ทำให้ทางสเปนส่งเจ้าหน้าที่ราชสำนักมาจับกุมโคลัมบัส ล่ามโซ่เขาและนำตัวกลับไปรับโทษ
แม้ท้ายที่สุดโคลัมบัสจะหลุดพ้นขอกล่าวหาทั้งหมด แต่เขาก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งและถูกริบทรัพย์สินทั้งหมด
การเดินทางครั้งสุดท้าย
ในปี ค.ศ. 1502 ความพยายามอย่างไม่ลดละของเขาที่ต้องการจะกอบกู้ชื่อเสียง บวกกับยังคงเชื่อว่าจะค้นพบสมบัติได้ เขาเกลี้ยกล่อมพระเจ้าเฟอร์ดินานด์เพื่อจะกลับไปยังแผ่นดินใหม่อีกครั้ง
ครั้งนี้โคลัมบัสเดินทางไปจนถึงอเมริกากลาง แต่กลับต้องเจอพายุหนัก สร้างความเสียหายให้กับกองเรือ ซึ่งเขาติดเกาะอยู่เกือบ 2 ปี และท้ายที่สุดก็ต้องกลับสเปนมือเปล่าอีกครั้ง เป็นการสิ้นสุดเรื่องราวการเดินเรือของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส
จุดจบแสนอัปยศ
ช่วงบั้นปลายชีวิตของโคลัมบัส เขาพยายามที่จะทวงคืนฐานันดรศักดิ์ของตัวเอง แต่ก็ไม่ประสบผล เขาเสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1506 อย่างชายที่เต็มไปด้วยความผิดหวัง พร้อมกับความเชื่อผิด ๆ ว่าแผ่นดินที่เขาค้นพบนั้นคือ เอเชีย
อย่างไรก็ตาม โคลัมบัสได้สร้างวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ทิ้งไว้ให้กับมนุษยชาติ เขาเปิดประตูเชื่อมต่อโลกเก่าและโลกใหม่ไว้อย่างสมบูรณ์ บุกเบิกเส้นทางการเดินเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก เขาถูกจดจำในฐานะนักสำรวจและนักเดินเรือคนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ ผู้คนขนานนามให้เป็น 'ผู้บุกเบิกประตูสู่ทวีปอเมริกา'
อ้างอิง