หากสังเกตดี ๆ จะเห็นว่า เรือเดินทะเลส่วนใหญ่บนโลกมักทาสีแดงที่ตรงส่วนล่างของตัวเรือ ซึ่งจมอยู่ใต้น้ำเกือบตลอดเวลา แต่..ทำไมต้องเป็นสีแดงกันล่ะ?
หลายคนคงพอเดาได้ว่า สีแดงนั้นทาไว้เพื่อกันเพรียงเกาะ
เรือทุกลำหนีไม่พ้นปัญหา ‘เพรียงเกาะ’ หรือ ‘ฟาวล์ลิง (fouling)’ ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า ‘เพรียง’ เป็นชื่อเรียกสัตว์ทะเลเปลือกแข็งชนิดหนึ่ง แต่คำว่า ‘ฟาวล์ลิง’ ในภาษาอังกฤษจะครอบคลุมถึงสัตว์และพืชทะเลทุกชนิดที่มาเกาะและขยายเผ่าพันธุ์ที่ส่วนล่างของตัวเรือ
ย้อนไปยุคแรกของการเดินเรือ วัสดุสร้างเรือทำจากไม้ซึ่งเป็นวัสดุที่มีรูพรุน ประกอบกับเรือแล่นด้วยความเร็วระดับช้ามากเมื่อเทียบกับเรือยุคนี้ ดังนั้นตัวเรือจึงเป็นแหล่งที่เหมาะสมมากสำหรับการเจริญเติบโตของบรรดาสัตว์และพืชทะเล พอมีจำนวนมากขึ้น เรือต้องแบกน้ำหนักเยอะขึ้นไปโดยปริยาย เท่ากับเพิ่มภาระแรงต้าน (drag) และลดความเร็วของเรือลง
นวัตกรรมที่ถูกนำมาใช้แรก ๆ เพื่อบรรเทาปัญหานี้คือ แผ่นทองแดง โดยถูกนำมาประกบเข้ากับตัวเรือ แต่ก็ทำได้เพียงป้องกันหนอนทะเลเจาะทะลุตัวเรือเข้ามาเท่านั้น
สาเหตุที่เลือกใช้ทองแดง เพราะมันมีคุณสมบัติเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ซึ่งตอบโจทย์ได้ในระดับหนึ่ง
ต่อมา...เรือสมัยใหม่เปลี่ยนมาใช้โลหะเป็นวัสดุในการต่อเรือ ปัญหาหนอนทะเลจึงหมดไป แต่สัตว์และพืชทะเลชนิดอื่นที่มาเกาะท้องเรือก็ยังคงมีอยู่ เป็นที่มาของการคิดค้นสีกันเพรียง (antifouling paint) ซึ่งมีทองแดงเป็นส่วนประกอบสำคัญ และสีตามธรรมชาติของทองแดงนี่เองที่ทำให้สีกันเพรียงมีสีแดง
อันที่จริง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถผสมสีให้ออกมาเป็นสีใดก็ได้ แต่ส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะคงสีแดงเอาไว้ เพราะถือตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมานาน
นอกจากนี้ ที่หัวเรือยังมีการเขียนระบุตัวเลขสีขาวในแนวตั้ง เอาไว้ใช้สำหรับวัดน้ำหนักของสิ่งของบรรทุกบนเรือ ช่วยให้การคำนวณปริมาณเชื้อเพลิงที่จะใช้ในการเดินทางสะดวกมากขึ้นอีกด้วย
ยังมีการคิดค้นและพัฒนาเพิ่มสารเคมีต่าง ๆ เพื่อป้องกันฟาวล์ลิง เช่น Tri-Butyl Tin (TBT) แต่เนื่องจากสารเคมีชนิดนี้มีความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมมากเกินไป ผู้สร้างเรือจึงมุ่งหาหนทางอื่นที่ส่งผลกระทบน้อยกว่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
อ้างอิง