หากพูดถึงโจรสลัด คงนึกถึงภาพชายฉกรรจ์หน้าตาถมึงทึงบนเรือที่ชูธงกะโหลกไขว้ และชื่อที่ผุดขึ้นมาในหัวคงไม่พ้น เจ้าสลัดเคราดำเอ็ดเวิร์ด แบล็กเบียด (Edward Blackbeard), พลเรือเอกโจรสลัดเฮนรี มอร์แกน (Henry Morgan) หรือ โจรสลัดยศอัศวินเซอร์พรานซิส เดร็ก (Sir Francis Drake) แต่ใครเลยจะคาดคิดว่าโจรสลัดที่มีตัวตนอยู่จริงในหน้าประวัติศาสตร์และครองความเป็นใหญ่ในน่านน้ำทะเลจีนใต้กลับเป็น ‘กัปตันโจรสลัดหญิงฉิงชิห์ (Ching Shih)’
ฉิงชิห์ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นตำนานโจรสลัดผู้ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่แค่เพราะเธอเป็นผู้หญิง หากแต่อิทธิพลของเธอได้สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วน่านน้ำทะเลจีนใต้ ด้วยกองทัพเรือโจรสลัดขนาดกว่า 1,800 ลำ และลูกสมุนโจรในสังกัดอีกกว่า 70,000 คน
จุดเริ่มต้น
เรื่องราวของฉิงชิห์ช่วงก่อนเป็นโจรสลัดมีบันทึกไว้น้อยมาก เธอเกิดในปี ค.ศ. 1775 ที่เมืองเล็ก ๆ ในมณฑลกวางตุ้ง และชื่อ ‘ฉิงชิห์’ ที่มีความหมายว่า ‘Ching’s Widow’ หรือ ‘แม่ม่ายฉิง’ เป็นชื่อที่ถูกเรียกในภายหลัง
ความยากจนบังคับให้เธอต้องทำอาชีพโสเภณีเพื่อเลี้ยงครอบครัว เฉกเช่นเดียวกันกับเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันในสมัยนั้น เธอทำงานในซ่องลอยน้ำซึ่งจะล่องไปตามชายฝั่งที่ต่าง ๆ เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘เรือสราญรมย์ (Flower Boat)’ และด้วยหน้าตาอันงดงามบวกกับคำร่ำลือในการปรนนิบัติชั้นเยี่ยมของเธอ ฉิงชิห์จึงเป็นที่โด่งดังรู้จักไปทั่ว
ก้าวแรกสู่ “ตำนานโจรสลัดหญิง”
ชื่อเสียงของฉิงชิห์นำพาเจิ้งอี (Zheng Yi) ผู้เป็นกัปตันโจรสลัดกองธงแดง (Red Flag Fleet) ให้มาพบกับเธอ
ตามคำบอกเล่า เจิ้งอีขอเธอแต่งงานโดยที่ฉิงชิห์มีเงื่อนไขว่า เธอต้องได้รับส่วนแบ่งครึ่งหนึ่งในทรัพย์สินทั้งหมดของเขา และต้องมีอำนาจควบคุมกลุ่มเรือโจรสลัดร่วมกัน ซึ่งด้วยความฉลาดและมีไหวพริบของเธอ เจิ้งอีได้ตอบตกลงโดยไม่มีข้อแม้
แต่ก็มีคำบอกเล่าอีกอย่างหนึ่งว่า เธอถูกลูกน้องเจิ้งอีลักพาตัวมาและถูกบังคับให้แต่งงานด้วย
ไม่ว่าเรื่องจริงจะเป็นอย่างไร ทั้งสองคนได้ลงเอยกัน และนี่คือจุดเริ่มต้นของเธอสู่ตำนานโจรสลัดหญิงแห่งเอเชีย
เส้นทางโจรสลัดของฉิงชิห์
กองทัพโจรสลัดภายใต้การนำของเจิ้งอีและฉิงชิห์ได้ขยายอิทธิพลไปทั่วน่านน้ำทะเลจีนใต้ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน จากการเข้าร่วมของกลุ่มโจรสลัดน้อยใหญ่ กองทัพโจรสลัดกองธงแดงมีกองเรือรวม 1,800 ลำ และลูกเรือโจรสลัดอีกกว่า 70,000 คน
ปี ค.ศ. 1807 ได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น สามีของเธอเสียชีวิตจากพายุไต้ฝุ่น ทำให้ฉิงชิห์ก้าวขึ้นเป็นผู้นำกองทัพโจรสลัด โดยมีเฉิงโป (Cheung Po) ลูกบุญธรรมเป็นผู้สนับสนุน
แม้ฉิงชิห์เป็นเพียงสตรี แต่เธอได้สร้างอิทธิพลอันน่าเกรงขามในหมู่โจรสลัด มีการตั้งกฎอันเข้มงวด ทำให้เหล่าโจรสลัดทั้งหลายอยู่ภายใต้คำสั่งของเธอโดยไร้การต่อต้าน
ตามกฎที่ตั้งขึ้น หากมีผู้ใดขัดขืนคำสั่งจะต้องถูกลงโทษตัดศีรษะทันทีโดยไม่มีการไต่สวน เธอออกคำสั่งห้ามให้มีการขืนใจนักโทษหญิง หากต้องการแต่งงานกับหญิงสาวคนใด ต้องได้รับการยินยอมก่อนเท่านั้น และต้องซื่อสัตย์ต่อคู่สมรสห้ามมีชู้ มิฉะนั้นจะถูกลงโทษถึงตาย แม้แต่ทรัพย์สินที่ได้จากการปล้น จำเป็นต้องถูกตรวจสอบก่อน หากพบการยักยอกจะถูกลงโทษตัดอวัยวะของร่างกายตามความผิดนั้น
ความเกรียงไกรของฉิงชิห์ขยายอาณาเขตอย่างกว้างขวางจนไม่มีใครกล้าต่อกรกับกองทัพโจรสลัดกองธงแดง แม้กระทั่งจักรวรรดิอังกฤษยังเลี่ยงที่จะรบกับกองทัพของเธอ ในเวลาเพียงไม่กี่ปี เธอสามารถเอาชนะกองทัพเรือหลวงที่ถูกส่งมาจากจักรพรรดิจีน และได้เรือหลวงมาครอบครองกว่า 60 ลำ
ทางการจีนต้องการที่จะสงบศึกครั้งนี้ จึงได้ส่งตัวแทนมาเพื่อเจรจายื่นข้อเสนอนิรโทษกรรมให้โจรสลัดทั้งหมดหากยอมจำนน แต่ฉิงชิห์และเฉิงโปต้องการให้ทำตามข้อเสนอของพวกตน โดยทั้งสองจะได้แต่งงานกันและไม่ถูกยึดทรัพย์สินทั้งหมดในความครอบครองของโจรสลัด
สุดท้ายมีการทำข้อตกลงในปี ค.ศ. 1810 เหล่าโจรสลัดกลับมาใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องรับโทษใด ๆ และไม่ถูกยึดทรัพย์ สามีใหม่ของเธอเฉิงโปได้เข้ารับตำแหน่งในกองทัพเรือ และเธอเองได้รับขนานนามว่า ‘ท่านหญิงฉิง’ เป็นการปิดตำนานกัปตันโจรสลัดหญิงฉิงชิห์อย่างถาวร
จุดจบแสนสงบ
ในปี ค.ศ. 1822 เฉิงโปเสียชีวิตลงในหน้าที่ ฉิงชิห์ได้พาลูก ๆ ของเธอไปตั้งรกรากที่มาเก๊า เธอเปิดกิจการบ่อนการพนันและซ่องโสเภณีที่นั่น ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในบั้นปลายชีวิต จนปี ค.ศ. 1844 เธอได้จากไปอย่างสงบท่ามกลางการรายล้อมของครอบครัวในวัย 69 ปี
ฉิงชิห์ได้ทิ้งเรื่องราวที่เป็นตำนานเอาไว้ให้ชนรุ่นหลัง จากโสเภณีสู่การเป็นกัปตันโจรสลัดหญิงผู้ยิ่งใหญ่ ที่คุมกองทัพเรือโจรสลัดที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังมีจุดจบที่สงบสุข
บทเรียนหนึ่งที่เราได้จากเธอนั้นคือ
‘หากผู้หญิงตัดสินใจจะทำอะไรแล้วนั้น ก็ไม่มีสิ่งใดมาหยุดยั้งเธอได้’
อ้างอิง