การจดทะเบียนเรือ (Ship Registry) หรือการมอบสัญชาติให้กับเรือ เป็นกฎข้อบังคับหนึ่งเพื่อดูแลด้านความปลอดภัยของการขนส่งทางน้ำ และการคุ้มครองรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล
กฎหมายบังคับให้เรือต้องจดทะเบียนภายใต้ธงของประเทศใดประเทศหนึ่ง เรียกว่า ‘รัฐเจ้าของธง (Flag State)’ ซึ่งการถือสัญชาติของเรือจะเป็นตัวกำหนดให้เรือต้องผูกพันกับกฎหมายของประเทศนั้น รวมถึงเขตอำนาจศาลเหนือเรือ เจ้าของเรือและลูกเรือ โดยเรือสามารถถือได้เพียงสัญชาติเดียว
แต่ละประเทศจะกำหนดเงื่อนไขของเรือที่จะมาถือสัญชาติของตนแตกต่างกันไป บางประเทศอนุญาตให้จดทะเบียนเฉพาะเจ้าของเรือหรือผู้ประจำเรือหลักที่ถือสัญชาติของประเทศนั้น ๆ เท่านั้น เรียกว่า ‘Closed Registry’ หรือ ‘การจดทะเบียนเรือแบบปิด’ บางประเทศจะเปิดให้เรือต่างชาติมาจดทะเบียนถือสัญชาติของประเทศนั้นได้ เรียกเป็น ‘Open Registry’ หรือ ‘การจดทะเบียนแบบเปิด’
การจดทะเบียนเรือของแต่ละประเทศจะให้สิทธิประโยชน์แตกต่างกันออกไป ซึ่งนี่เป็นปัจจัยสำคัญที่เจ้าของเรือใช้พิจารณาและตัดสินใจจดทะเบียนขึ้นสัญชาติเรือกับประเทศนั้น ๆ
5 อันดับแรกประเทศแห่งการจดทะเบียนเรือ
ธุรกิจมีการแข่งขันกันเช่นใด การจดทะเบียนเรือก็มีเช่นนั้น ประเทศต่าง ๆ สามารถทำรายได้และรับผลประโยชน์จากค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนเรือ และนี่คือการจัดอันดับที่ใช้เกณฑ์ ‘ตันกรอสส์ (Gross Tonnage-GT)’ เป็นตัวชี้วัด
- ปานามา (Panama) ยังคงครองตำแหน่งผู้นำอันดับ 1 ประเทศจดทะเบียนเรือมากที่สุดของโลก ทั้งด้านจำนวนเรือและขนาดน้ำหนักตันเรือ (Tonnage)
มีจำนวนเรือที่ชักธงของปานามากกว่า 9,376 ลำ สูงกว่าจีนซึ่งเป็นอันดับรองลงมาในด้านจำนวนเรือเกือบสองเท่า มีน้ำหนักเดดเวตตัน (Deadweight Tonnage-DWT) รวมที่ 333 ล้านและน้ำหนักตันกรอสส์ที่จดทะเบียนด้วย 225 ล้าน - ไลบีเรีย (Liberia) ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ในปี 2019 โดยมีน้ำหนักรวม 171 ล้านตันกรอสส์ แซงหน้าคู่แข่งอย่างสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์กว่า 8.8 ล้าน
นับว่าการปรับโครงสร้างของหน่วยงานและการบริหารของอัลฟองโซ คาสติเรโญ (Alfonso Castirello) กรรมการอำนวยการ (Corporate Operating Officer) คนใหม่เป็นส่วนสำคัญในการก้าวกระโดดสู่ความสำเร็จครั้งนี้ - หมู่เกาะมาร์แชลล์ (Marshall Islands) ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก มีเรือจดทะเบียนรวม 162 ล้านตันกรอสส์ และ 261 ล้านเดดเวตตัน ซึ่งหมู่เกาะมาร์แชลล์มีจุดขายอยู่ที่ Offshore Vessel หรือเรือที่ปฏิบัติงานนอกชายฝั่ง
- ฮ่องกง (Hong Kong) รั้งตำแหน่งอันดับ 4 ได้ ด้วยน้ำหนักนวม 128 ล้านตันกรอสส์ เมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้วจำนวนเรือที่ชักธงฮ่องกงนั้นมีแค่เพียง 2,707 ลำเท่านั้น
การเติบโตด้านตัวเลขล่าสุดของเรือที่ชักธงฮ่องกงมาจากเรือบรรทุกน้ำมันดิบและเรือบรรทุกแร่ และยังมีการตั้งสำนักงานภูมิภาคขึ้นที่ลอนดอน สิงคโปร์ และเซี่ยงไฮ้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการทางด้านเทคนิคให้รวดเร็วฉับไว - 5. สิงคโปร์ (Singapore) ด้วยน้ำหนักรวมเกือบ 98 ล้านตันกรอสส์และมีจำนวนเรือที่ชักธงสิงคโปร์ถึง 4,962 ลำ ได้ส่งให้สิงคโปร์ทะยานติดหนึ่งในห้าอันดับแรกของประเทศยอดนิยมแห่งการจดทะเบียนเรือ
นางกัวเลฮุน (Quah Leh Hoon) ผู้บริหารคนใหม่ของสำนักงานจดทะเบียนเรือสิงคโปร์ (Singapore Registry of Ships) เสนอนโยบายการใช้พลังงานสะอาด และมุ่งหวังให้สิงคโปร์เป็นผู้นำทางเทคโนโลยีด้านการท่าเรือและการจดทะเบียนเรือ
เหตุผลที่ปานามาถึงยืนหนึ่งเรื่องการจดทะเบียนเรือ
สาธารณรัฐปานามาคือประเทศเล็ก ๆ ทางใต้สุดของอเมริกากลาง มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 75,417 ตารางกิโลเมตร หรือขนาดพอ ๆ กับพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย แต่กลับมีจำนวนเรือที่ชักธงปานามามากเป็นอันดับ 1 ของโลก
ปานามาเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา รายได้ส่วนใหญ่มาจากค่าธรรมเนียมจดทะเบียนเรือหรือค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นหลักโดยอาศัยช่องโหว่จากระบบการจดทะเบียนเเบบเปิด (Open Registration)
เหตุผลที่ปานามาเป็นประเทศยอดฮิตนั้นมีอยู่หลายประการ โดยทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิทธิประโยชน์และสิ่งจูงใจที่ทำให้หลายคนตัดสินใจจดทะเบียนเรือกับปานามา
- เป็นการจดทะเบียนแบบ Flag of Convenience (FOC) ซึ่งเป็นการจดทะเบียนเรือแบบเปิดประเภทหนึ่ง โดยไม่มีการกำหนดสัญชาติเจ้าของเรือ ประเทศที่ตั้งสำนักงาน หรือแม้แต่สัญชาติคนประจำเรือ
- สามารถจดทะเบียนได้สะดวก จากสำนักงานและสถานกงสุลกว่า 96 แห่งทั่วโลก โดยปานามายังรับจดทะเบียนเรือที่มีอายุจนถึง 25 ปี ซึ่งหลายประเทศจะรับจดทะเบียนแต่เรือต่อใหม่เท่านั้น
- ไม่มีการเสียภาษีจากรายได้ของการทำธุรกิจ
- ไม่มีกำหนดขนาดน้ำหนักตันเรือ (Tonnage) ขั้นต่ำในการจดทะเบียนเรือ
- การย้ายสัญชาติเรือทำได้ง่าย และไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยซ้ำถ้ามีใบรับรองด้านความปลอดภัย (Safety Certificate) ที่ยังไม่หมดอายุ และยังยอมรับใบสำคัญรับรองขนาดตันเรือ (Tonnage Certificate) โดยที่เรือไม่ต้องเข้าอู่แห้งซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง
- อนุญาตให้จดทะเบียนแบบ Dual Registration หรือก็คือให้เรือที่ถือสัญชาติอื่นสามารถจดทะเบียนแบบ FOC สัญชาติที่สองได้ โดยปกติจะเป็นเรือเช่าที่ผู้เช่าต้องการได้สิทธิประโยชน์จากรัฐหรือประเทศอื่น
- มีค่าธรรมเนียมต่ำ โดยเฉพาะถ้ามีการจดทะเบียนกองเรือตั้งแต่ 5 ลำขึ้นไป จะได้ส่วนลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน
ด้วยการจดทะเบียนเรือที่เปิดกว้าง มีหลักเกณฑ์ไม่เคร่งครัด และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนต่าง ๆ ได้ ปานามาจึงเป็นตัวเลือกลำดับแรกในการจดทะเบียนเรือในใจเจ้าของเรือหลาย ๆ คน
อ้างอิง