พบกับการแข่งขันที่ทุกคนคือผู้ชนะ เพราะจุดหมายเดียวกันคือลดโลกร้อน
พลังงานลมในทะเล (offshore wind) ถูกมองว่าเป็นอนาคตของโลกที่ปราศจากการปล่อยก๊าซคาร์บอน ภายในปี 2030 คาดว่าจะมีพลังงานไฟฟ้า 12 GW ถูกผลิตขึ้นมาจากภาคอุตสาหกรรมพลังงานลมในทะเล โดยคิดเป็นมูลค่าตลาดมากถึง 32,000 ล้านปอนด์
แม้ที่ผ่านมาจะมีการพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยีเพื่อดึงพลังงานลมในทะเลมาใช้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่ทันใจกับความต้องการนำไปใช้งานจริงในสเกลใหญ่ ดังนั้น Carbon Trust ร่วมกับ Floating Wind Joint Industry Project (JIP) จึงได้ร่วมกันจัดงานเพื่อกระตุ้นให้เหล่านักประดิษฐ์และปัญญาชนออกมาวาดลวดลายกันเสียหน่อย
ชื่ออย่างเป็นทางการของการแข่งขันคือ “Floating Wind Technology Acceleration Competition” แต่จากลักษณะและจุดมุ่งหมายของงานออกจะเป็นแนวนำเสนอประกวดไอเดียกันเพื่อนำไปต่อยอดเสียมากกว่า โดยมีเงินรางวัลมูลค่า 1 ล้านปอนด์จากรัฐบาลสกอตแลนด์เป็นเดิมพัน
รายการนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะกับผู้ที่ทำธุรกิจในด้านนี้อยู่แล้วเท่านั้น แต่จะเปิดกว้างสำหรับทุกคน ทั้งนี้เพื่อร่วมกันฝ่าฟันความท้าทายที่ยังคงมีอยู่หากต้องการทำให้ภาคพลังงานลมในทะเลลอยน้ำ (floating offshore wind) ไปสู่การใช้งานในสเกลใหญ่ได้จริง ซึ่งความท้าทายเหล่านั้น ได้แก่
1. ระบบการวัดผลและตรวจสอบระบบการทำงานของอุปกรณ์ (monitoring and inspection)
2. ระบบจุดจอดเทียบอุปกรณ์ (mooring systems)
3. ระบบการบำรุงรักษาและเปลี่ยนอุปกรณ์กลางทะเล (heavy lift maintenance) และ
4. ระบบชักลากเข้าท่าเรือเพื่อซ่อมบำรุง (tow to port maintenance)
ซึ่งไอเดียที่นำมาเสนอตามหัวข้อความท้าทายเหล่านี้ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของต้นทุนที่คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย
นอกจากเข้าร่วมประชันกันใน 4 หัวข้อข้างต้นแล้ว ทางผู้จัดเปิดหัวข้อเบ็ดเตล็ดไว้สำหรับไอเดียแปลกใหม่ที่ไม่เข้าข่าย เพราะเห็นว่าทุกไอเดียล้วนมีความเป็นไปได้ และยังเป็นการเปิดสู่มุมมองใหม่ ๆ ที่อาจมองข้ามไป
ผลการแข่งถูกประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14/03/2020 ปรากฎว่ามีไอเดียเข้าตาคณะกรรมการถึง 8 ทีม ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มผู้ชนะตามหัวข้อทั้ง 4 ดังนี้
- หัวข้อที่ 1: “Fugro, AS Mosley, and University of Strathclyde”, “Technology from Ideas and WFS Technologies”
- หัวข้อที่ 2: “Dublin Offshore”, “Intelligent Mooring Systems and University of Exeter”, “RCAM Technologies and the Floating Wind Technology Company”, “Vryhof”
- หัวข้อที่ 3: “Conbit”
- หัวข้อที่ 4: “Aker Solutions”
ทั้ง 8 ทีมต้องหารแบ่งเงินรางวัลกันเพื่อนำไปเป็นทุนพัฒนาไอเดียของใครของมันกันต่อ และยังได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากบริษัทชั้นนำที่พัฒนาพลังงานลมในทะเลอยู่แล้วจำนวน 14 บริษัท ซึ่งเป็นกลุ่มสมาชิกของ Floating Wind JIP
มองเผิน ๆ คงมีผู้ชนะเพียง 8 ทีม แต่ต้องไม่ลืมว่าทุกทีมที่เข้าร่วมงานครั้งนี้ล้วนคิดทำเพื่อให้นำพลังงานลมมาใช้ได้กันทั้งนั้น บางทีไอเดียที่ไม่เข้าตาในวันนี้ เมื่อนำไปปรับนู่นนิดนี่หน่อยแล้วอาจจะปังขึ้นมาก็เป็นได้
อ้างอิง