️ ซีรีส์สัตว์สงวนแห่งท้องทะเลไทย Ep.4 (Finale) ️เต่ามะเฟือง (Leatherback Turtle) เต่ายักษ์ที่มีบรรพบุรุษอยู่ร่วมกับไดโนเสาร์ตัวเป็น ๆ #LeatherbackTurtle #MarineLife #สัตว์ทะเลสงวนเดอะซีรีส์
เต่ามะเฟืองเป็นเต่าทะเล มันคือเต่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเต่าทุกชนิดบนโลก ต้นตระกูลของมันสามารถสืบย้อนวิวัฒนาการกลับไปได้มากกว่า 100 ล้านปี ซึ่งเป็นยุคเดียวกับไดโนเสาร์ เราพบเจอมันได้ในทุกน่านน้ำทั่วโลก เว้นเพียงมหาสมุทรอาร์กติกและแอนตาร์กติก แต่ทุกวันนี้จำนวนของพวกมันลดลงอย่างน่าใจหาย
ธรรมชาติของพวกมันชอบอากาศแบบอบอุ่น พวกมันคือนักเดินทางตัวยง ใช้ชีวิตรอนแรมระหว่างแหล่งกำเนิดและหากินไปทั่ว พบว่ามีบางตัวถึงขนาดว่ายน้ำข้ามไปมาระหว่างเขตฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเลยทีเดียว ดังนั้นเวลาในชีวิตส่วนใหญ่ของพวกมันจึงอยู่ในเขตทะเลลึก แถมยังเป็นนักดำน้ำชั้นเลิศ สามารถดำดิ่งได้ลึกราว 4,000 ฟุตและทนอยู่ได้นาน 85 นาที ถือเป็นเต่าเหนือเต่าทั้งมวล
ในฤดูผสมพันธุ์ หลังฟีเจอร์ริ่งเรียบร้อยในทะเล ตัวเมียจะเป็นฝ่ายขึ้นฝั่งมาหาที่วางไข่ โดยจะเลือกชายหาดอันเงียบสงบ บริเวณทรายแห้ง น้ำทะเลท่วมไม่ถึง จัดการขุดหลุมทำรัง วางไข่คราวละประมาณ 80 ฟอง จากนั้นกลับลงทะเล ปล่อยให้ลูกเต่าฟักตัวออกมาเอง ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเวลากลางคืน
และในช่วง 55-60 วันที่ลูกเต่าจะฟักตัวออกจากไข่นี้เองที่ธรรมชาติรังสรรค์ความอัศจรรย์ให้กับเต่ามะเฟือง โดยอุณหภูมิจะเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดระยะฟักตัวและเพศของลูกเต่า ซึ่งพบว่าจะเป็นตัวเมียหากอุณหภูมิสูง และเป็นตัวผู้หากอุณหภูมิต่ำ
ลักษณะเด่นของเต่ามะเฟืองคือ กระดองที่เป็นหนังหนา 1.5 นิ้วสีดำมีจุดประสีขาว ไม่ได้เป็นกระดองแข็งเหมือนเต่าชนิดอื่น มีร่องสันนูนตามยาว 7 สัน ซึ่งมีส่วนช่วยให้เคลื่อนที่ในน้ำได้ดี ขาหน้าเป็นครีบไม่มีกรงเล็บ ขาหลังคล้ายใบพาย ตัวโตเต็มวัยมีขนาดยาว 210 ซม. และหนัก 900 กก.
ปากและฟันของพวกมันถูกวิวัฒนาการมาให้กินสัตว์ที่มีลำตัวอ่อนนุ่มเท่านั้น ดังนั้นอาหารหลักของพวกมันคือแมงกระพรุน ซึ่งก็นับว่าแปลกที่ว่าอาหารเพียงเท่านี้ก็ให้คุณค่าสารอาหารเพียงพอสำหรับพวกมัน
แม้พวกมันเจริญเติบโตได้เร็วมากกว่าเต่าชนิดอื่นและมีช่วงอายุยืนยาว แต่ภัยคุกคามก็ส่งผลให้พวกมันมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็วจนสถานะของพวกมันถูกจัดว่าสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ภัยที่เป็นอันตรายต่อพวกมัน ได้แก่ การถูกจับติดอวน มนุษย์เอาไข่พวกมันไปเป็นอาหาร บ้างก็ล่าตัวเพื่อบริโภคก็มี การถูกใบพัดเรือให้บาดเจ็บ การถูกรบกวนแหล่งวางไข่ และมลพิษและขยะพลาสติกในทะเล
ในประเทศไทย พวกมันคือสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 นับว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยของพวกมัน
ยิ่งในปีนี้ ที่นักท่องเที่ยวบางตาจากโควิด-19 บรรดาแม่เต่ามะเฟืองได้แห่ขึ้นมาวางไข่กตามแนวชายฝั่งอันดามันที่จังหวัดภูเก็ตและพังงารวมทั้งสิ้น 11 รัง ซึ่งเป็นการขึ้นมาวางไข่มากที่สุดในรอบ 20 ปี
อ้างอิง