แพทย์แสดงความห่วงใย “กะลาสีเรือต้องได้รับการดูแลอย่างดี”
แปลกแต่จริง! อุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางทะเลมักชูประเด็นด้านความปลอดภัยมาถกกันอยู่เรื่อย แต่ความจริงกลับค้านสายตา
งานวิจัยเผย
- กะลาสีจำนวน 1 ใน 5 ถูกพบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะทำร้ายร่างกายตนเอง
- กะลาสีประมาณ 85 คนเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ทุกเดือน
- จากจำนวนคนที่เสียชีวิตในแต่ละเดือน มีประมาณ 5 คน ‘ฆ่าตัวตาย’
เดิมที การดูแลพยาบาลสุขภาพกายและสุขภาพจิตของกะลาสีทุกคนเป็นเรื่องท้าทายสำหรับเหล่าแพทย์อยู่แล้ว ทั้งข้อจำกัดเรื่องสภาพและอันตรายจากการทำงานตามปกติ รวมไปถึงความห่างไกลจากแหล่งพยาบาลและความช่วยเหลือบนชายฝั่ง ยิ่งมาเจอสถานการณ์โควิด-19 อย่างทุกวันนี้ ยิ่งเกิดลำบากเข้าไปใหญ่
และน่าเศร้าอีกที่ว่า สิ่งของหรือสินค้าสามารถไปต่อได้ แต่กะลาสีที่มากับเรือกลับไม่เป็นที่ต้อนรับ
แม้การผลัดเปลี่ยนคนตามปกติยังทำไม่ได้ เพราะแทบทุกที่กลัวว่าเสี่ยงที่จะเป็นการปล่อยให้เชื้อโควิด-19 เข้ามาแพร่ระบาดในพื้นที่ของตนเอง
แต่สถานการณ์แบบนี้ก็มีด้านดีที่ว่า กลุ่มคนนอกสายตาที่เหมือนไม่เคยมีตัวตนเป็นที่รับรู้มาก่อนได้ออกมามีตัวตน
เหมือนนักร้องที่ถูกส่องด้วยสปอตไลท์ ผู้คนเริ่มรับรู้ว่ากะลาสีผู้เสียสละเหล่านี้เองมีส่วนทำให้โลกหมุนไป
มีสื่อรายงานข่าวคราวชีวิตความเป็นอยู่ของกะลาสีให้เป็นที่รับรู้มากขึ้น
สิ่งที่แพทย์ให้ความกังวลมากที่สุดตอนนี้คือ ‘สภาพจิตใจ’ ของเหล่ากะลาสีที่เป็นผลพวงที่มาจากโควิด-19 กะลาสีรู้สึกโดดเดี่ยว
ขาดการติดต่อกับทางบ้านว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง และไม่ค่อยได้รู้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไปถึงไหนแล้ว
ทุกสิ่งล้วนสร้างความกังวลและความกดดันให้กับจิตใจมากยิ่งขึ้น
ต้องไม่ลืมว่า ความเสี่ยงจากการทำงานและสภาพความเป็นอยู่ตามปกติที่ไม่ค่อยจะดีอยู่แล้ว ยังคงอยู่เหมือนเดิม ประกอบกับกะลาสีหลายคนต้องทำงานเกินเวลา เกินสัญญาจ้าง ความเสี่ยงต่อชีวิตยิ่งเป็นทวีคูณ
เหล่าแพทย์ผู้ที่คอยดูแลกะลาสีโดยเฉพาะได้พยายามเสนอรูปแบบการดูแลแบบ ‘ฮอตไลน์สายด่วน’ ถึงเรือที่แล่นอยู่กลางทะเล
โดยเป็นการให้คำปรึกษากับทุกคนบนเรือที่ต้องการ เน้นไปที่การดูแลด้านสภาพจิตใจเป็นหลัก
และสามารถตรวจสภาพกายผ่านการสอบถามได้ทุกวัน ซึ่งจะมีบริการครอบคลุมหลากหลายภาษาทั่วโลก
การได้พูดคุยกับแพทย์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้วยภาษาพื้นถิ่นของตนเองน่าจะสร้างความสบายใจให้คนกะลาสีได้มากทีเดียว
นอกจากนี้ ยังมีความพยายามทำบริการตรวจร่างกายก่อนขึ้นลงเรือ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนอยู่ในสภาพพร้อมทำงานและสุขกายสบายดี
และสำหรับช่วงโควิด-19 ได้มีการนำเสนอแนวทางปฏิบัติที่จำเป็นหากพบเจอคนที่ต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้อบนเรือ ซึ่งอย่างน้อยคนอื่น ๆ จะได้รู้ว่าควรทำอะไรอย่างไรต่อไป เป็นการลดความเสี่ยงการแพร่กระจายบนเรือลงได้บ้าง
สุดท้าย เหล่าแพทย์เน้นย้ำว่า เจ้าของเรือควรหมั่นตรวจดูอุปกรณ์ปฐมพยายาบาลบนเรือ และหากเป็นได้ ควรมีของครบให้เกินขีดความจำเป็นขั้นต่ำสุดไว้เสียหน่อย เผื่อยามจำเป็นที่ไม่คาดฝัน
อ้างอิง