เตรียมลงตารางรอ รูท ‘ญี่ปุ่น-บรูไน’ ไปกลับแบบหลับตาไม่มีหลง
NYK บริษัทเรือยักษ์ใหญ่แดนซามูไรกำลังอยู่ในระหว่างทดลองการเดินเรือขนส่งก๊าซไฮโดรเจนด้วยวิธีการแบบใหม่ ในเส้นทางระหว่างโรงผลิตในประเทศบรูไน ไปกลับโรงแยกก๊าซในเมืองคาวาซากิ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนี่เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์เพื่อรับกับแผนพลังงานแห่งชาติเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู้ปัญหาสภาวะโลกร้อน
การทดลองการเดินเรือครั้งนี้อยู่ภายใต้โปรเจกต์ ‘Advanced Hydrogen Energy Chain Association for Technology Development (AHEAD)’ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการสร้างซัปพลายเชนก๊าซไฮโดรเจนเพื่อการค้าและอุปโภคบริโภคแบบครบวงจร
การขนส่งก๊าซไฮโดรเจนใช้ประโยชน์จากกระบวนการ ‘organic chemical hydride method’ ซึ่งทำให้ขนส่งก๊าซในสถานะของเหลวได้ โดยที่ในประเทศแหล่งผลิต ไฮโดรเจนและโทลูอีนจะถูกเปลี่ยนสภาพโดยผ่านปฏิกิริยาไฮโดรจีเนชันให้เป็นเมทิลไซโคลเฮกเซน (methylcyclohexane-MCH) ซึ่งมีสถานะเป็นของเหลวที่อุณหภูมิและความกดอากาศโดยรอบ จากนั้นเมื่อได้ขนส่งมาถึงโรงแยกก๊าซปลายทาง ไฮโดรเจนจะถูกแยกจาก MCH ผ่านปฏิกิริยาดีไฮโดรจีเนชัน เพื่อนำไปใช้งานตามต้องการ โดยจะเหลือแต่โทลูอีนไว้เพื่อขนส่งกลับไปที่ต้นทางเพื่อทำกระบวนการเดิมซ้ำไปซ้ำมา
ตัวโปรเจกต์เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2017 และในปี 2020 จึงได้เริ่มมีการทดลองขนส่งจริง ซึ่งเป้าหมายของโปรเจกต์คือ ต้องการขนส่งไฮโดรเจนให้ได้ถึง 210 ตัน เทียบได้กับการให้เชื้อเพลิงกับยานพาหนะที่ใช้เซลล์พลังงาน 40,000 คัน
หน้าที่ความรับผิดชอบหลักของ NYK นอกจากจะเป็นเรื่องเรือขนส่งแล้ว ยังรวมถึงจัดหาถังบรรจุมาตรฐาน ISO สำหรับการบรรจุขนส่งที่ปลอดภัยด้วย โดยผ่านบริษัทในเครือ Ocean Network Express Pte. Ltd. (ONE)
ความคืบหน้าตอนนี้คือ MCH ล็อตแรกได้ถูกขนส่งถึงญี่ปุ่นตั้งแต่ธันวาคมปลายปีที่แล้ว ได้ทำการแยกก๊าซไฮโดรเจนออกมา และป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้า Mizue power เป็นที่เรียบร้อย และขณะนี้ เรือของ NYK กำลังเดินทางมุ่งหน้าสู่บรูไนเพื่อนำโทลูอีนกลับไปเริ่มกระบวนการอีกรอบ
การทดลองเดินเรือไปกลับนี้จะทำทั้งสิ้นเป็นเวลา 1 ปีเต็ม ซึ่งกำหนดสรุปผลการทดลองจะมีขึ้นราวเดือนธันวาคมสิ้นปี
อ้างอิง