วาฬโอมูระ (Omura’s Whale) กับชีวิตที่เต็มไปด้วยปริศนา #OmuraWhale #MarineLife #สัตว์ทะเลสงวนเดอะซีรีส์
สำหรับ ‘วาฬโอมูระ’ เราจะเรียกว่าเป็นสัตว์ชนิดใหม่ที่โลกเพิ่งรู้จักก็ว่าได้ แต่ก่อนพวกมันถูกจัดรวมเรียกว่าวาฬบรูด้า จนปี พ.ศ. 2536 ที่นักวิจัยชาวญี่ปุ่นได้ศึกษาสัณฐานวิทยา (Morphology) โครงกระดูก และพันธุกรรม (DNA) อย่างละเอียด และได้จัดแยกระบุพวกมันออกมา
ลักษณะเด่นที่ทำให้วาฬโอมูระแตกต่างกับวาฬบรูด้าคือจำนวนสันที่หัว ซึ่งวาฬโอมูระมีเพียง 1 สันเท่านั้น
ส่วนลักษณะอื่นทั่วไปคือ มีสีของขากรรไกรสองด้านที่แตกต่างกัน มีร่องใต้คาง 80-90 ช่อง มีรอยไหม้ด้านขวาจาง ๆ กับแถบสีเข้มตัดครึ่งอยู่สี่แถบ ด้านข้างลำตัวมีรอยรูปตัววีทั้งสองข้าง ครีบข้างมีสีอ่อนจางไล่ยาวตลอดขอบครีบ และครีบหลังโค้งงอไปด้านหลังคล้ายตาขอ
น้ำหนักตัวไม่เกิน 20 ตัน
เพศเมียมีขนาด 10.1-11.5 เมตร
เพศผู้มีขนาด 9.6-10 เมตร
วัยเจริญพันธุ์อยู่ช่วง 8-13 ปี
ตั้งท้องนาน 11-12 เดือน ตกลูกทุก 2 ปี ครั้งละ 1 ตัว
ปากไม่มีฟันแต่มีซี่กรองแทน
และ อาหารหลักคือปลาขนาดเล็กและเคย
เรามักพบเห็นวาฬโอมูระหากินใกล้ชายฝั่งในทะเลเขตร้อนถึงเขตอบอุ่น ลักษณะนิสัยของมันนั้นแตกต่างจากวาฬส่วนใหญ่ คือไม่ได้อยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน แต่ก็ไม่ได้แยกขาดกันอย่างเป็นเอกเทศ โดยจะอยู่ใกล้กันเป็นกลุ่มหลวม ๆ กลุ่มละประมาณ 6 ตัว พอให้ได้ยินเสียงสัญญาณที่สื่อสารถึงกันและให้มีพื้นที่ส่วนตัวของใครของมัน
ยังพบอีกว่า พวกมันเป็นสัตว์ที่มีถิ่นที่อยู่เดียว ไม่มีการย้ายถิ่นตามฤดูเหมือนเช่นวาฬชนิดอื่น
มีรายงานการพบเห็นวาฬชนิดนี้จากหลายแหล่งทั่วโลก โดยมากมักพบเห็นในบริเวณเขตน้ำตื้นใกล้ชายฝั่ง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะพบในพื้นที่แถบอินโด-แปซิฟิกตะวันออก
ส่วนในประเทศไทยมีรายงานพบเห็นจากทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน
และเพราะพวกมันมักอาศัยอยู่ในเขตน้ำตื้น พวกมันต้องเสี่ยงภัยจากมนุษย์ ทั้งการถูกใบพัดเรือ การถูกจับหรือติดร่างแหโดยบังเอิญ การล่า และการสำรวจ และผลิตปิโตรเลียม
อย่างไรก็ตาม ในสถานภาพการอนุรักษ์ระดับ วาฬโอมูระถูกจัดว่ายังมีข้อมูลไม่เพียงพบ ซึ่งข้อมูลที่เล่ามาทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลจากกลุ่มนักวิจัยที่การพยายามเรียนรู้เกี่ยวกับมันอย่างต่อเนื่องและยังคงศึกษาเพิ่มเติมต่อ พวกมันเป็นกลุ่มวาฬที่มีจำนวนอยู่อย่างจำกัดมาก
และในไทย วาฬโอมูระถูกประกาศให้เป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
อ้างอิง