ความแม่นยำและรวดเร็วของข้อมูลข่าวสารสามารถชี้เป็นชี้ตายถึงผลลัพธ์ของสงครามมานับแต่โบราณกาล เมื่อกาลเวลาผ่านไป เทคโนโลยีได้เข้ามาช่วยพัฒนาด้านความแม่นยำและความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพราะในสงครามการค้าที่รุนแรงในโลกธุรกิจ มันชี้วัด “ผลกำไร” ของบริษัท
ตั้งแต่วัตถุดิบเดินทางผ่านกระบวนการหลากหลายขั้นตอนจนเปลี่ยนรูปแปรร่างเป็นสินค้าสู่มือของผู้บริโภค ทั้งหมดนี้รวมกันเป็น “ห่วงโซ่อุปทาน” หรือ Supply Chain ในระหว่างขั้นตอนต่าง ๆ ความเป็นไปต่าง ๆ ตลอดจนข้อมูลทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนเป็นประโยชน์ต่อการจัดการเพื่อประสิทธิภาพและการบริหารต้นทุนที่ดีที่สุด ผู้จัดการ supply chain ทุกคนล้วนต้องการข้อมูลเหล่านี้ ข้อมูลที่ได้ต้องถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว ทันเวลา และที่สำคัญหากเป็นแบบปัจจุบันทันด่วนได้ยิ่งดีเลิศ
โลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว เทคโนโลยีได้เข้าทลายข้อจำกัดและปฏิวัติวิธีการทำงานแบบเดิม ๆ บริษัททั้งหลายสามารถจัดเก็บ วิเคราะห์ ควบรวม เข้าถึง และแปลผลข้อมูลคุณภาพสูงได้อย่างง่ายดาย และเป็นแบบ Real-time โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกใช้ในการทำระบบอัตโนมัติ การวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ ถึงที่สุดแล้ว สิ่งเหล่านี้จะเข้าควบคุมการจัดการระบบ Supply chain ทั้งหมด
จุดสังเกตคือ ระบบเหล่านี้แทบไม่ต้องใช้ “คน”
มนุษย์กำลังถูกแย่งงาน!
หลายบริษัทได้เริ่มใช้ระบบเหล่านี้แล้ว หน้าที่การงานที่วนเวียนเป็นรูปแบบเดิมสามารถถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีได้ง่ายที่สุด เช่น การออก invoice, การจัดซื้อ, การจ่ายเงินบัญชี, หรือหน้าที่บางส่วนในการให้บริการลูกค้า
ตัวอย่างใกล้ตัวที่เห็นได้ง่ายที่สุดคือ App ของค่ายมือถือ ซึ่งหากเราเข้าดูข้อมูลจาก App มันสามารถบอกได้ว่าเราโทรไปกี่นาที ใช้เน็ตไปเท่าไร ต้องการแพ็กเกจเพิ่มเติม เปลี่ยนโปรโมชั่น สุดท้ายก็คิดเงินเรา พร้อมมี link ช่องทางชำระเงินได้ทันที โดยทุกอย่างที่เราดำเนินการคือข้อมูล ซึ่งจะถูกนำไปใช้วิเคราะห์โดยบริษัทผู้ให้บริการอีกต่อหนึ่ง
เทียบกับอดีตที่เราต้องรอบิลค่าบริการ เดินทางไปศูนย์บริการเพื่อดำเนินการ นั่งรอเจ้าหน้าที่เรียกคิว และกว่าจะทำรายการทุกอย่างเสร็จสิ้นก็หมดเวลาไปเกือบครึ่งวัน แต่ด้วยเทคโนโลยี ครึ่งวันลดลงเหลือเพียงไม่ถึง 5 นาที โดยใช้นิ้วเดียว!
แนวโน้มของโลกอ้าแขนรับเทคโนโลยีเข้าสู่ระบบการทำงานอย่างชัดเจน และจะยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ อาชีพบางอย่างตายหรือกำลังตาย แต่ก็จะมีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นแทน ซึ่งคนจำเป็นที่ต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพื่อให้ตรงกับความต้องการจ้างงานของบริษัทและระบบการทำงานที่เปลี่ยนไป
เมื่อการเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดาของโลก การเปิดใจกว้างยอมรับสิ่งใหม่และเรียนรู้ก็เป็นธรรมดาของเราเช่นกัน
อ้างอิง
- Harvard Business Review-https://hbr.org/2018/06/the-death-of-supply-chain-management