หมอกจัด อากาศแปรปรวน กระแสน้ำปากแม่น้ำ คลื่นทะเลรุนแรง สันดอนทรายเดี๋ยวลึกเดี๋ยวตื้น หินโสโครกใต้น้ำ หน้าผาหินสูงชันตลอดแนวชายฝั่ง เหล่านี้คือสิ่งที่เรือเดอะเอสเอสวาเลนเซียได้เผชิญในการเดินเรือครั้งสุดท้าย
สุสานแห่งแปซิฟิก (Graveyard of the Pacific) คือสถานที่ที่รวมฝันร้ายคนเรือเอาไว้ครบทุกประการ มันคือพื้นที่ระหว่างอ่าวทิลลามุก (Tillamook Bay) และเกาะแวนคูเวอร์ (Vancouver Island) ณ ที่แห่งนี้มีเรือมากกว่า 2,000 ลำจมลงสู่ก้นทะเลและชีวิตผู้คนถูกพรากไปมากมายนับพัน
เรือเดอะเอสเอสวาเลนเซียคือเรือเหล็กพลังไอน้ำขนาด 1,598 ตัน ออกเดินทางจากเมืองซานฟรานซิสโกในวันที่ 20 มกราคม ปี 1906 มุ่งหน้าสู่เมืองซีแอตเทิล ขนส่งผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 173 ชีวิต ภายใต้การนำของกัปตันออสการ์ เอ็ม. จอห์นสัน (Oscar M. Johnson) โดยการตรวจสอบสภาพเรือครั้งสุดท้ายอุปกรณ์และเครื่องมือช่วยชีวิตทุกอย่างอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน
จากกำหนดเส้นทางการเดินเรือ เรือจำต้องผ่านบริเวณสุสานแห่งแปซิฟิกอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะต้องหันหัวเรือเข้าสู่ช่องแคบฆวนเดอฟูคา (Strait of Juan de Fuca) แต่เส้นทางนี้ถือเป็นเส้นทางปกติที่ใช้กันในการเดินทางระหว่างซานฟรานซิสโก-ซีแอตเทิลอยู่แล้ว
จะเป็นเพราะฟ้ากลั่นแกล้งหรืออย่างไรไม่ทราบได้ การเดินเรือครั้งนี้ต้องพบกับสภาพอากาศเลวร้ายถึงที่สุด ทัศนวิสัยย่ำแย่ กัปตันคล้ายคนสายตามืดบอด ไม่สามารถระบุตำแหน่งเรือจากอุปกรณ์และแผนที่ได้เลย ต้องใช้การคาดคะเนเท่านั้น ซึ่งสุดท้ายเรือก็เลยทางเข้าช่องแคบและมาเกยตื้นที่แนวปะการังทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะแวนคูเวอร์แทน
คราวเคราะห์ยังไม่จบสิ้น คืนแรกที่เกยตื้น มีฝนตกหนักรุนแรง มีลมพัดจากจากมหาสมุทรด้วยความเร็ว 25-35 ไมล์/ชั่วโมง เกิดคลื่นสูงได้พัดเรือไปติดหินโสโครก เครื่องยนต์ดับ และไฟดับ เหตุการณ์เลวร้ายถึงขีดสุด ความตื่นตระหนกและความกลัวเกาะกุมหัวใจผู้คนบนเรือ
ผู้คนแย่งกันลงเรือบด มีอยู่ 1 ลำที่บรรทุกคนเกินพิกัดพลิกค่ำตั้งแต่ยังไม่แตะผิวน้ำ อีก 2 ลำพลิกคว่ำกลางอากาศ ส่วน 3 ลำที่เหลือที่ลงแตะผิวน้ำได้ แต่มี 2 ลำโดนคลื่นซัดจนเรือแตก ส่วนอีก 1 ลำที่เหลือหายสาบสูญไปอย่างเป็นปริศนา คนส่วนใหญ่จมน้ำตาย มีเพียง 9 ชีวิตรอดไปถึงฝั่งที่เป็นหน้าผาหินได้พยายามส่งข่าวขอความช่วยเหลือ
เรือบดลำสุดท้าย ได้อาสาสมัครเสี่ยงตายพายเข้าสู่ฝั่งเพื่อขอความช่วยเหลือได้สำเร็จ
เมื่อความช่วยเหลือมาถึง เรือต่าง ๆ ไม่สามารถเข้าใกล้เรือเดอะเอสเอสวาเลนเซียได้เลย เพราะสภาพทะเลที่อันตราย ได้แต่รออยู่โดยรอบ ถึงที่สุดแล้ว เหล่าผู้ช่วยเหลือต้องทนดูเรือที่โดนคลื่นและสภาพอากาศเลวร้ายตลอดสองคืนแตกและจมไปต่อหน้าต่อตา
มีผู้รอดชีวิตเพียง 37 คนเท่านั้น
เหตุการณ์ครั้งนี้นำไปสู่การปรับปรุงความปลอดภัยการเดินเรือในบริเวณนี้อย่างจริงจัง ได้มีการสร้างประภาคารเพิ่มเป็นจุดที่ 3 ที่พาชินาพอยท์ (Pachena Point) ในปี 1907 จากที่มีอยู่แล้วสองที่คือที่เคปบีล (Cape Beale) และที่คาร์มานาห์พอยท์ (Carmanah Point) และมีการปรับปรุงการวางสายโทรเลขเพื่อเชื่อมประภาคารทุกแห่ง จากที่เคยพาดไว้ตามต้นไม้
ได้มีการสร้างทางเดินยาว 47 ไมล์ตลอดแนวชายฝั่งไว้สำหรับชาวเรือที่ประสบเหตุเรือแตกในบริเวณนี้ พร้อมสร้างเพิงพักทิ้งไว้ให้เป็นระยะ ๆ ซึ่งปัจจุบันได้ถูกปรับปรุงและอนุรักษ์ไว้เป็นสถานที่พักผ่อนและเพื่อระลึกถึงประวัติศาสตร์
ซึ่งตลอดทางเดินที่ว่านี้ยังปรากฏซากเรือแตกของเรือเดอะเอสเอสวาเลนเซียให้ได้พบเห็น และถ้าหากโชคดี ก็อาจได้เห็นเรือเดอะเอสเอสวาเลนซียตั้งตระหง่านติดหินอยู่อย่างโดดเดี่ยว หรือถ้าโชคดียิ่งกว่าก็จะได้ยินเสียงฝีพายกระทบน้ำแทรกเสียงคลื่นและได้เห็นเรือบดหมายเลข 5 ที่หายสาบสูญไป ที่ยังคงมีคนพยายามพายเรือเข้าฝั่งเพื่อเอาชีวิตรอดอยู่ เพียงแต่ว่าคนที่พายเรืออยู่นั้นเหลือแต่โครงกระดูกเท่านั้น
อ้างอิง