Empowering Woman For The Maritime Industry โครงการดีๆ ส่งเสริม 'สตรี' สู่วงการเรือโลก
ใครจะเป็น 'กัปตันหญิงไทย' คนเเรกเเละคนต่อๆไป?
ในปัจจุบัน นักเดินเรือที่เป็นผู้หญิงคิดเป็นเพียง 2% จากจำนวนนักเดินเรือทั้งหมด 1.2 ล้านคนในโลก โดยที่ 94% ของ 'นักเดินเรือหญิง' ส่วนใหญ่อยู่ใน 'อุตสาหกรรมเรือสำราญ'
จากอดีต อุตสาหกรรมการเดินเรือขึ้นชื่อว่าเป็นอุตสาหกรรมสำหรับ 'เพศชาย' เท่านั้น
เนื่องจากลักษณะของงานที่หนัก เสี่ยงภัย มีความกดดันสูง ไกลจากบ้านเเละครอบครัวเนื่องจากต้องอาศัยเเละใช้ชีวิตอยู่บนเรือเป็นระยะเวลานาน อีกทั้งในเวลานั้นมีสถาบันฝึกอบรมทางทะเลเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่เปิดประตูรับนักเรียนหญิง ดังนั้น "งานเรือ" จึงไม่ใช่งานที่เหมาะเเละน่าสนใจนักสำหรับผู้หญิงในอดีต
เเต่จากการเปลี่ยนเเปลงของโลกในปัจจุบันที่มุ่งเน้นไปสู่ ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equity) เเละผลพวงจากโครงการส่งเสริมจากภาครัฐทำให้การหลั่งไหลเข้ามาของผู้หญิงสู่อุตสาหกรรมเดินเรือเพิ่มมากขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะเป็นสายงานโลจิสติกท่าเรือ หรือเเม้กระทั่งสายงานการเดินเรือ
องค์การสหประชาชาติ (UN) เล็งเห็นถึงความสำคัญของการให้ความเท่าเทียมทางเพศ ภายใต้โครงการ 'เสริมสร้างความเท่าเทียมทางเพศ' (Gender Equity) โดยมีผลการวิจัยรองรับว่า การมีทีมงานที่มี 'ความหลากหลายทางเพศ' (Gender-diverse) สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีประสิทธิภาพมากกว่าทีมที่มีเเต่ผู้ชาย เเละ องค์กรที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถสร้างความพึงพอใจเเละความร่วมมือร่วมใจกันของพนักงาน อีกทั้งยังมีปริมาณการเก็บรักษาพนักงานให้อยู่ในองค์กรได้ยาวนานกว่าองค์กรที่มีพนักงานเพียงเพศเดียว
ซึ่งตลอด 30 ปีที่ผ่านมา องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ หรือ IMO ได้เล็งเห็นเเละพยายามอย่างเต็มที่เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมการเดินเรือก้าวไปข้างหน้าด้วยการสืบทอดโครงการ 'Empowering Woman For The Maritime Industry' ที่มีมาอย่างยาวนานตั้งเเต่ปี ค.ศ. 1988 เเก่ประเทศสมาชิกเเละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการเดินเรือ ตามความเชื่อของการสร้างวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้เเน่ใจว่า 'ผู้หญิง' ได้ถูกส่งเสริมให้มีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมการเดินเรือ
ภายใต้กรอบของ 'แผนการพัฒนาทางทะเล' กับสโลแกน 'ฝึกอบรม - สร้างทัศนวิสัย - ส่งเสริมการรับรู้' ด้วยวิธีการเชิงกลยุทธ์ในด้านต่างๆ สำหรับส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิงทั้งในสายงานโลจิสติกท่าเรือ เเละ สายงานการเดินเรือ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนการเข้าถึงการฝึกอบรมทางทะเลและโอกาสการจ้างงานสำหรับผู้หญิงในภาคการเดินเรือในอนาคต ตามความคาดหวังที่จะสร้างวัฒนธรรมใหม่สำหรับวงการพาณิชยนาวีสำหรับศตวรรษที่ 21 เเละเพื่อความยั่งยืนอย่างถาวรของการพัฒนาอุตสาหกรรมโลก
'Empowering Woman For The Maritime Industry' จึงได้รับเลือกให้เป็นธีมหลักสำหรับ 'วันการเดินเรือโลก' ประจำปี พ.ศ. 2562 (1 พ.ค. ที่ผ่านมา) เพื่อเป็นโอกาสที่จะปลุกจิตสำนึกถึงความสำคัญของความเท่าเทียมทางเพศ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) และเพื่อเน้นการมีส่วนร่วมที่สำคัญของผู้หญิงทั่วโลกสู่ภาคการเดินเรือ
ขอเอาใจช่วยเเละตั้งตารอที่จะได้เห็น "กัปตันหญิงไทย" คนเเรกเเละคนต่อๆไป สำหรับวงการพาณิชยนาวีไทยสู่อุตสาหกรรมเดินเรือโลก
อ้างอิง