อุตสาหกรรมเรือแดนปลาดิบสุดคึก ผุดโปรเจกต์ใหม่สู้โลกร้อนเพียบ ที่แท้มีโรดแมป (Roadmap) นำทางชัดเจน
พักหลัง ๆ ก็สงสัยอยู่ว่าทำไมเห็นข่าวบริษัทเรือญี่ปุ่นต่างทดลองเทคโนโลยีและเชื้อเพลิงทางเลือกใหม่ ๆ สำหรับเรืออยู่ประจำ ประมาณว่าทุก 1-2 สัปดาห์ต้องมีข่าวเรื่องนี้โผล่มาแน่นอน สั้นบ้างยาวบ้าง แล้วแต่ความคืบหน้าของงาน สุดท้ายถึงบางอ้อ ประเทศญี่ปุ่นภายใต้การนำของภาครัฐบาลได้ออกโรดแมปสำหรับอุตสาหกรรมการเดินเรือโดยเฉพาะนี่เอง
โรดแมปมีชื่อทางการว่า ‘Roadmap to Zero Emission from International Shipping’
มันถูกพัฒนาและประกาศออกมาเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้จากกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวญี่ปุ่น ร่วมกับหน่วยงานสำคัญ ๆ อื่นที่เกี่ยวข้อง
มีเป้าหมายสูงสุดคือ การพัฒนาเรือที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ภายในปี 2028
และสร้างแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซให้ได้ก่อนปี 2050
โรดแมปนี้สอดคล้องไปกับแผนใหญ่ของ IMO ซึ่งเท่ากับลดความสับสนลงไปได้
ตามแผนของ IMO ตั้งเป้าว่า จะลดการปล่อยก๊าซต่อการเดินทางขนส่งหนึ่งเที่ยวให้ได้ 40% ภายในปี 2030 และลดจำนวนรวมก๊าซเรือนกระจกต่อปีลง 50% ภายในปี 2050
ซึ่งในโรดแมปของญี่ปุ่นกำหนดไว้ว่า
ภายในปี 2030 จะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเรือโดยกำหนดดัชนี EEXI เพื่อใช้วัดค่าสมรรถนะการใช้พลังงานของเรือให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และ
ภายในปี 2050 ได้วางแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไว้ 2 แนวทางคือ เปลี่ยนผ่านการใช้งานจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ไปสู่การใช้ก๊าซมีเทนแบบรีไซเคิลคาร์บอน (carbon-recycle methane) หรือก๊าซสังเคราะห์ และ ส่งเสริมการใช้ไฮโดรเจนและ/หรือแอมโมเนียเป็นพลังงานของเครื่องยนต์ร่วมกับเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell)
นอกจากเป้าหมายและมาตรการดำเนินงานแล้ว ตัวโรดแมปยังโฟกัสไปที่แนวคิดการสร้างเรือที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเลยให้ได้ภายในปี 2028 ซึ่งมีทั้งหมด 4 แนวคิด ได้แก่
- เรือขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงไฮโดรเจน
- เรือขับเคลื่อนด้วย LNG ประสิทธิภาพสูง
- เรือขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงแอมโมเนีย
- เรือดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
เพราะมีเป้าหมายเช่นนี้ มันจึงคลายข้อสงสัยที่ว่ามักเห็นข่าวเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้จากญี่ปุ่นอยู่เป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาโปรเจกต์จัดหาไฮโดรเจนและแอมโมเนียแบบครบวงจรจากบริษัทญี่ปุ่น
เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งน้ำใจเดียวกันของภาครัฐและเอกชน เมื่อมีเป้าหมายและแผนงานชัดเจน อีกทั้งส่วนบนและส่วนล่างล้วนเห็นพ้องร่วมกัน การเดินตามแผนก็ยิ่งทำได้อย่างรวดเร็ว
และยังสามารถเรียนรู้ได้อีกว่าเมื่อมีเป้าหมายใหญ่แล้วก็ควรจะมีแผนงานและเป้าหมายเล็ก ๆ ไว้คอยรองรับ ซึ่งการพิชิตเป้าหมายเล็ก ๆ ย่อมทำได้ง่ายกว่า
อ้างอิง