เป็นคนเรือต้องรู้ดีเรื่อง ‘คลื่น’ ใครบอกได้บ้างว่ามันมีกี่แบบ?
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน
‘คลื่น’ ที่เราหมายถึงคือคลื่นสัญญาณเพื่อการสื่อสารทางทะเล
หากเพื่อน ๆ อยากรู้เรื่องคลื่นลมทะเลจริง ๆ แล้วล่ะก็ แนะนำให้กูเกิ้ลดู รับรองว่าเจอแน่ ๆ
ที่อยากพูดถึงคลื่นสัญญาณเพื่อการสื่อสารทางทะเลก็เพราะว่านี่มันยุคดิจิทัล
ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือชีวิตส่วนตัว ขาดสัญญาณเหมือนขาดใจ
ปกติพวกเราชาวเรือมักใช้ชีวิตกันกลางทะเล
และด้วยเทคโนโลยีตอนนี้ การรับส่งคลื่นการสื่อสารด้วยดาวเทียมนั้นตอบโจทย์เราแบบสุด ๆ
เรามาลองรู้จักกับคลื่นการสื่อสารทางดาวเทียมว่ามีกันกี่แบบ และมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง
ประเภทของคลื่นการสื่อสารทางดาวเทียมถูกแบ่งด้วยความถี่ ซึ่งแต่ละช่วงความถี่จะมีชื่อเรียกเฉพาะ
อันที่จริงแล้วสำหรับการสื่อสารผ่านดาวเทียมมีช่วงความถี่หลายช่วง ได้แก่ L-Band, C-band, X-band, Ku-band, Ka-band และ High Throughput Satellites (HTS)
โดยแต่ละชนิดมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้งาาน
เราจะคุ้นเคยกับ C-band และ Ku-band
เพราะเป็นที่กล่าวถึงเมื่อตอนบ้านเราเปลี่ยนการส่งสัญญาณทีวีมาเป็นดิจิทัล
และในตลาดการสื่อสารทางทะเล สัญญาณ 2 ประเภทนี้ได้รับความนิยมหลัก
เราจึงขอเล่าถึงพวกมันนี้กันแบบง่าย
สัญญาณ C-band มีความถี่ต่ำกว่า Ku-band ซึ่งมีข้อดีคือมีฟุตปริ้นท์ (footprint) หรือพื้นที่ให้บริการกว้างมาก และไม่มีปัญหาสัญญาณขาดหายเมื่อต้องเผชิญกับเมฆฝน หากเรือหรือไซต์งานกลางทะเลต้องใช้การรับส่งข้อมูลและมีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก C-band นับว่าเหมาะสมกับการใช้งาน เพราะมีแบนด์วิดท์สูง รองรับการส่งข้อมูลที่รวดเร็ว แต่ด้วยความถี่ต่ำนี่เอง จึงทำให้จานรับสัญญาณขนาดใหญ่เพื่อรับสัญญาณให้มีความเข้มมากพอต่อการใช้งาน ดังนั้น จานรับสัญญาณจึงมีราคาสูงและต้องใช้พื้นที่ติดตั้งอยู่พอสมควร
สัญญาณ Ku-band มีความถี่สูงกว่า C-band แต่กลับถูกใช้งานสำหรับการสื่อสารทางทะเลมากกว่า ได้มีการพัฒนาการส่งสัญญาณจากดาวเทียมด้วยคลื่นปรเภทนี้ให้มีพื้นที่ครอบคลุมเส้นทางขนส่งหลักทางทะเล แม้จะมีปัญหาเรื่องคุณภาพสัญญาณเมื่อเจอเมฆฝน แต่กลับเหมาะกับเรือส่วนใหญ่มากกว่า เพราะจานรับสัญญาณประเภทนี้มีขนาดกะทัดรัด ประหยัดพื้นที่การติดตั้งและใช้พลังงานต่ำ คุ้มค่าต่อการลงทุนติดตั้งมากกว่า อีกทั้งความเร็วในการส่งสัญญาณก็นับว่าเพียงพอต่อการใช้งานทั่วไป