วิเคราะห์หลังดวลเดือดสองวิธี ใครลดก๊าซ CO2 ได้ดีกว่ากัน
สืบเนื่องจากการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2020 ของ IMO ซึ่งก็มีวิธีการหลากหลายให้เจ้าของเรือได้เลือกใช้กัน ดังนั้น CE Delft ได้ลองหยิบเอาวิธีการใช้สครับเบอร์และการใช้เชื้อเพลิงซัลเฟอร์ต่ำมาศึกษาเปรียบเทียบกันดูว่าแท้จริงแล้วมันเป็นอย่างไร
CE Delft คือองค์กรอิสระเพื่อการวิจัยและให้คำปรึกษา มีความเชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายด้านด้วยนวัตกรรม ซึ่งทางออกที่นำเสนอออกมานั้นผ่านการพิสูจน์รับรองทางเทคโนโลยี คุ้มค่าต่อการลงทุน ใช้งานได้จริง และคำนึงถึงสังคมโดยรวม
การศึกษาครั้งนี้ตั้งอยู่บนหลักการที่ใช้คำภาษาอังกฤษว่า ‘well-to-wake’ ซึ่งหมายถึงดูตั้งแต่ต้นทางกระบวนการผลิตไล่มาจนการปล่อยก๊าซจากเครื่องยนต์ของเรือ
ในขั้นตอนการศึกษากำหนดให้มีการใช้ข้อมูลอ้างอิงจากเรือทึ่แตกต่าง 5 ประเภทดังนี้
- เรือสำราญ (100,000 GT)
- เรือบรรทุกคอนเทนเนอร์ขนาดเล็ก (4,000 TEU)
- เรือบรรทุกคอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ (18,000 TEU)
- เรือบัลก์ (80,000 dwt)
- เรือบรรทุกน้ำมัน (200,000 dwt)
และใช้สครับเบอร์จากบริษัทเจ้าดัง 3 แห่ง ได้แก่ Alfa Laval, Yara Marine และ Wärtsilä
มีก๊าซถูกปล่อยในขั้นตอนการผลิตและติดตั้งสครับเบอร์น้อยกว่าเมื่อเทียบกับขั้นตอนการทำงานของเครื่อง พบว่าสครับเบอร์จะใช้พลังงานมากขึ้นหากต้องดักจับก๊าซมากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณซัลเฟอร์ในเชื้อเพลิงที่ใช้ด้วย แต่โดยรวมแล้วปริมาณก๊าซที่ถูกปล่อยออกมาตลอดทั้งกระบวนการจะผันผวนในช่วง 1.5-3%
สำหรับการใช้เชื้อเพลิงซัลเฟอร์ต่ำ การปล่อยก๊าซจากเครื่องยนต์ของเรือนั้นสูงกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเชื้อเพลิง การกลั่น ชนิดของน้ำมันดิบ พบว่าในขั้นตอนการขจัดซัลเฟอร์ในน้ำมันดิบ หากยิ่งต้องการขจัดซัลเฟอร์ออกมาก ก็จะยิ่งก่อให้เกิดก๊าซ CO2 มากขึ้นตามไปด้วย ปริมาณก๊าซจากกระบวนการกลั่นเพิ่มขึ้นมากกว่า 1% และหลาย ๆ กรณีเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
ดังนั้นจึงสรุปผลได้ว่า
การเลือกใช้สครับเบอร์ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการใช้เชื้อเพลิงซัลเฟอร์ต่ำอยู่เล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูปริมาณรวมการปล่อยก๊าซ CO2 ตลอดทั้งกระบวนการของทั้งสองวิธีนี้แล้ว ปรากฏว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเพิ่มขึ้นทั้งคู่
อ้างอิง