จุดเริ่มต้น ในปี 2013 กลุ่มติดอาวุธจากตอนใต้ของฟิลิปปินส์บุกเข้าเมือง Lahud Datu ทางฝั่งรัฐ Sabah (อยู่ทางตะวันออกของมาเลเซีย) เพื่อหวังยึดพื้นที่ในนามสุลต่านแห่งซูลู ในเหตุการณ์ครั้งนั้นได้มีการสังหารเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและพลเมือง ฝ่ายผู้บุกรุกถูกปลิดชีพ 45 คน ถูกจับ 30 คน และถูกตัดสินประหารอีก 9 คน
จากนั้นมาได้เกิดการบุกโจมตีด้วยอาวุธและการลักพาตัวตามมาอีกหลายครั้งหลายครา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนมีนาคม 2016 จนถึงเดือนเมษายน 2017 เกิดเหตุลักพาตัวทางทะเลมากมายซึ่งนับเป็นการบ่อนทำลายการค้าขายในภูมิภาค ตามแหล่งข้อมูลที่ได้เปิดเผยออกมา มีกะลาสี 70 คนจากหกประเทศถูกลักพาตัวในเหตุการณ์ต่างวาระกัน 19 เหตุการณ์ ในจำนวนนี้มีกะลาสีเสียชีวิต 5 คน ขณะที่คนอื่น ๆ เสียชีวิตขณะถูกคุมขัง
ความสำคัญของรัฐ Sabah
รัฐ Sabah ภายใต้มาเลเซียตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียวซึ่งอยู่แยกจากแผ่นดินใหญ่มาทางตะวันออก มีท่าเรือทั้งหมด 8 แห่งกระจายทั่วทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของรัฐ ในจำนวนนี้ ท่าเรือ Sapangar Bay Container Port เป็น hub ศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายเรือสำหรับ Brunei Darussalam-Indonesia-Malaysia-Philippines East ASEAN Growth Area (BIMP-EAGA) และยังตั้งอยู่บนเส้นทางยุทธศาสตร์การเดินเรือระหว่างตะวันออกไกลและยุโรป
มาตรการตอบโต้
เมษายน 2013 หลังความพยายามบุกยึด Lahud Datu รัฐบาลมาเลเซียได้ก่อตั้ง Eastern Sabah Security Command (ESSCOM) โดยตั้งใจให้เป็นศูนย์บัญชาการปฏิบัติการร่วมระหว่าง Malaysian Armed Forces (RMAF), Royal Malaysian Police (RMP), Maritime Police, และ Malaysian Maritime Enforcement Agency (MMEA)
จากจำนวนองค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบในหลาย ๆ ด้านซึ่งเข้าร่วมใน ESSCOM จะเห็นได้ว่ารัฐบาลมาเลเซียเล็งเห็นว่า Sabah เป็นจุดสำคัญทางภูมิศาสตร์ไม่ใช่เฉพาะต่อความมั่นคงของประเทศเท่านั้น แต่ยังต่อทั้งภูมิภาคอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมีจุดบกพร่องบางประการเกิดขึ้น อย่างแรกที่เห็นได้ชัดเจนและเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือหลายฝ่ายในมาเลเซียมีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันน้อยมาก ยิ่งเป็นการปฏิบัติการร่วมระหว่างองค์กรด้วยแล้วยังไม่มีกระบวนการทำงานและกลไกการประสานงานกันอย่างเป็นทางการ
อีกประเด็นที่น่าสนใจคืองบประมาณ ที่ไม่ใช่แค่จะน้อยนิดเท่านั้น แต่ยังจัดสรรได้ไม่เท่าเทียมกัน โดยงบส่วนใหญ่ถูกจัดไปยังเหล่าทหารบก แม้อันที่จริงแล้วการคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศส่วนใหญ่มาจากทางทะเลก็ตาม ด้านกำลังพลของทหารบกมีมากถึง 80,000 นายเมื่อเทียบกับกำลังทหารเรือที่มีเพียง 15,000 นาย
ท้ายที่สุด นั่นคือความจริงที่ว่ารัฐ Sabah มีการปกครองที่แตกต่างออกไป และทาง RMAF ปฏิเสธการเคลื่อนพลไปปฏิบัติการ ณ ที่แห่งนั้น
ความชัดเจนในความรับผิดชอบ
เมื่อมีหลายฝ่ายร่วมทำงาน ควรจะต้องบอกขอบข่ายอำนาจและหน้าที่ให้ชัดเจนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและขัดขวางการงานซึ่งกันและกัน ตำรวจและหน่วยงานทางทะเลควรมีอำนาจเต็มที่ในการเข้าจับกุม สอบสวน และดำเนินการฟ้องร้อง ด้านฝ่ายทหารสามารถให้การสนับสนุนด้านกำลังพล รวมถึงการให้ใช้เรดาร์ตรวจตรา
จับมือเพื่อนบ้านช่วยกันดูแล
เพื่อนบ้านสามประเทศทั้งมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียได้ร่วมกันลาดตระเวนทางทะเลตั้งแต่ปี 2017 และถึงแม้จะยังไม่ได้ร่วมมือกันจนแสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ สถิติก็แสดงให้เห็นว่าเหตุร้ายต่าง ๆ ทางทะเลนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ด้วยทรัพยากรที่จำกัดทำให้การลาดตระเวนจำกัดอยู่เพียงการป้องกันช่องแคบที่สำคัญเท่านั้น ยังมีมหาสมุทรเปิดที่ไม่มีการลาดตระเวน อย่างไรก็ตามนั่นก็เพียงพอต่อการต่อต้านการดักปล้น การลักพาตัวทางทะเล และป้องกันการขนส่งภายในภูมิภาคนี้ แต่ก็มีข้อด้อยในด้านสกัดกั้นการค้าของเถื่อนและการลักลอบเข้าและออกของผู้ก่อการร้ายจากฟิลิปปินส์ และยังไม่มีศูนย์กลางสำหรับประสานงานการลาดตระเวน
อ้างอิง