เดือด! ท้องทะเลระอุลุกเป็นไฟ นานาชาติเตรียมเปิดศึกครั้งใหม่ หนนี้เจอกันที่ใต้ทะเลลึก
รู้หรือไม่ว่าทรัพยากรบนพื้นดินบนโลกมันเหลือน้อยเต็มทีแล้ว?
นี่คือเรื่องจริง นับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ การผลิตสินค้าและข้าวของเครื่องใช้เพิ่มขึ้นหลายเท่าเกินกว่าการเพิ่มของประชากรเสียอีก แต่มนุษย์เรามีทางออกเสมอ เมื่อบนดินหมด เราก็ดำดิ่งลงไปบุกโลกใต้ทะเลกันดีกว่า
โลกมีพื้นที่เป็นทะเลถึง 71% ที่มีทรัพยากรหลับไหลอยู่
และเหตุผลหลักที่ทำให้มนุษย์ยังไม่ลงไปเอามันมาคือ ข้อจำกัดด้านวิทยาการ แต่โลกยุคนี้เหมือนว่าข้อจำกัดนั้นกำลังจะหมดไป เราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีจนเข้าใกล้ ‘ความคุ้มค่า’ ในการลงทุนบุกใต้ทะเลเข้าไปทุกที
International Seabed Authority (ISA) เตรียมงานเข้ารัว ๆ
ISA คือองค์กรกลางสากลที่ดูแลเรื่องการทำเหมืองใต้ทะเลในพื้นที่น่านน้ำสากล โดยต้องให้แน่ใจว่า กิจกรรมต่างที่เกิดใต้ทะเลในเขตน่านน้ำสากลต้องเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของมวลมนุษย์โดยรวม ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ งานวิจัย เทคโนโลยี และการกู้วัตถุทางประวัติศาสตร์
ตามข้อมูลนับมาจนถึงกลางปี 2020 กลุ่มองค์กรทำเหมืองได้ขอทำสัญญาสำรวจพื้นที่จำนวน 30 ฉบับ ซึ่งภายใต้สัญญา ผู้ขออนุญาตมีสิทธิ์สำรวจเป็นเวลา 15 ปี เมื่อใดที่สัญญาสิ้นสุด คงถึงเวลาที่ ISA ต้องจัดการตัดสินใจอย่างรอบด้านเพื่ออนุญาตให้ทำเหมืองเพื่อการค้าอย่างเป็นทางการ
ไม่เพียงเท่านั้น ISA ยังต้องออกกฎการทำเหมืองเพื่อควบคุมผู้ขออนุญาตและควบคุมผลกระทบในด้านต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
แต่มีจุดหนึ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างเพราะ ISA พึ่งพาข้อมูลด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านอื่น ๆ จากทางผู้ขอทำการสำรวจและนักวิชาการจำนวนหนึ่งเพียงเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอ
โลกหมุนเร็วและวิทยาการก้าวไกลในยุคดิจิทัล
นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาอย่างหนัก (และน่าจะเพลิดเพลิน) เกี่ยวกับทั้งชีวิตใต้ทะเลและเทคโนโลยีสำหรับการเก็บเกี่ยวสินแร่ ในแง่การทำเหมือง มันใกล้เคียงคำว่า ‘เป็นไปได้’ เข้าไปทุกที โดยพบว่ามีสินแร่แทรกอยู่ในวัตถุทรงคล้ายหัวมันฝรั่งที่ก้นทะเลที่รอเก็บมาสกัด และยังแทรกอยู่ตามพื้นที่ใต้ทะเลอื่น ๆ อีกมาก
ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ต้องรับผิดชอบศึกษาสิ่งมีชีวิตในบริเวณที่ต้องการทำเหมือง และศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างถี่ถ้วน เพราะสิ่งมีชีวิตบางชนิดที่พบเจอเป็นสายพันธุ์ใหม่และอาจเป็นสายพันธุ์เฉพาะถิ่น
เปรียบเทียผลได้และผลเสีย
ทุกสิ่งขึ้นอยู่กับข้อมูลจากการสำรวจและการศึกษาอย่างรอบด้านและตรงไปตรงมา
สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลอาจถูกรบกวนจนไม่อาจทนได้และล้มตายไป เลวร้ายที่สุดอาจถึงขั้นสูญพันธุ์
และภายใต้สนธิสัญญาร่วมจากการประชุมกฎแห่งท้องทะเล (Law of the Sea Convention) มีประเทศ 167 ชาติให้สัตยาบันเข้าร่วม หากสหรัฐอเมริกาจะโหวตเสียงกันใหม่เป็นการภายในเพื่อร่วมให้สัตยาบันด้วยแล้ว คงจะเป็นกำลังสำคัญในการปกป้องท้องทะเลได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว
อ้างอิง