ลัน ลัน ลา...ลัน ลัน ลา วาฬชิว ตีครีบผับ ร้อนนี้ไร้เงาซามูไรนักล่า
หน้าร้อนปีนี้ ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ยึดพาดหัวข่าวหน้าแรกไปเสียหมด จนข่าวคราวตามฤดูกาลหมดความน่าตื่นเต้นไปเลย และไม่แปลกเลยที่ข่าวบางอย่างหายไปแล้วแต่คนก็ยังไม่รู้
หลายปีที่ผ่านมา ตามหน้าเว็บข่าวรอบโลกเป็นต้องมีเรื่องการล่าวาฬในแถบมหาสมุทรทางใต้ (Southern Ocean) ของเรือญี่ปุ่นจับจองพื้นที่บ้าง บางปีเรื่องราวก็ร้อนแรงถึงขั้นเกือบออกคิวบู๊กับเรือ Sea Shepherd ของกลุ่มอนุรักษ์วาฬกันเลยทีเดียว แต่ปีนี้มันพิเศษหน่อย เพราะว่าข่าวนี้มันหายวับดับสนิท
ไม่รู้ว่าเป็นความโชคดีหรือโชคร้ายของเหล่าวาฬ เพราะช่วงส่งท้ายปี 2017 ญี่ปุ่นประกาศขอออกจากคณะกรรมการการล่าวาฬระหว่างประเทศ (International Whaling Commission-IWC) และจะเริ่มออกล่าเพื่อการพาณิชย์อย่างจริงจัง
ตอนยังเป็นสมาชิกอยู่ ญี่ปุ่นสามารถใช้ช่องว่างทางกฎหมายและคำประกาศของคณะกรรมการออกล่าวาฬมาได้ไกลถึงน่านน้ำมหาสมุทรตอนใต้ที่ถือเป็นสรวงสรรค์แห่งหนึ่งของวาฬ โดยใช้เหตุผลล่าเพื่อการวิจัยมาโดยตลอด แต่การลาออกทำให้สามารถออกล่าได้เฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษของตัวเองเท่านั้น
การล่าวาฬในญี่ปุ่นสามารถย้อนกลับไปได้ถึงช่วง 14,000-300 ปีก่อนคริสตกาล แต่ก็เป็นเพียงการล่าวาฬที่หลงเข้ามาในน่านน้ำเท่านั้น จากนั้นช่วงคริสต์ศักราชที่ 1600 จึงเริ่มมีการล่าเพื่อดำรงชีพ แต่ก็เริ่มมีเสียงต่อต้านเมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 20 กระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จำต้องล่าวาฬมากขึ้น และหลังสงครามนายพลดั๊กลาส แม็กอาเธอร์ที่เข้ามาดูแลญี่ปุ่่นก็สนับสนุนให้ออกล่าวาฬยังน่านน้ำอื่น ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหาร
สำหรับเรื่องรสชาติเนื้อวาฬนั้นขออธิบายได้ด้วยประโยคว่า “ไม่ว่าใคร พอได้ลองกินเนื้อวัว ก็ไม่คิดอยากจะกินเนื้อวาฬอีกหรอก”
แล้วทำไมยังล่าวาฬล่ะ?
คำตอบแยกได้เป็นสองมุมมอง มุมหนึ่งคือชาวญี่ปุ่นมองว่าวาฬคืออาหาร ทำให้ยังมีคนจำนวนหนึ่งดำรงชีพด้วยอาชีพนี้ ส่วนอีกมุมหนึ่งคือเรื่อง “การเมือง” ล้วน ๆ ซึ่งพอถกกันไปมา มันก็คาบเกี่ยวทั้งสองมุมมอง ยุ่งเหยิงไปหมด
ด้านนักอนุรักษ์มองว่าฤดูร้อนปีนี้ถือเป็น “ประวัติศาสตร์” หน้าใหม่เลยที่ไม่มีการล่าวาฬในเขตมหาสมุทรตอนใต้นี้ นี่คือครั้งแรกที่วาฬสามารถว่ายน้ำอย่างเริงร่าสบายใจสุด ๆ แต่ก็ไม่ใช่จุดจบของภารกิจ เป็นเพียงก้าวสำคัญในการต่อสู้กับการล่าวาฬเพื่อการพาณิชย์
แต่ญี่ปุ่นก็ยังมีภาระผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายทางทะเล ภายใต้สหประชาชาติที่ระบุให้ “ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์วาฬผ่านการเข้าเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศองค์กรใดองค์กรหนึ่ง”
ตอนนี้ ญี่ปุ่นประกาศดำรงสถานะเป็น “ผู้สังเกตการณ์” กับ IWC ซึ่งบ่งบอกว่าหนทางการเจรจายังไม่ปิดตายไปซะทีเดียว
อ้างอิง
- https://www.maritime-executive.com/article/japan-scales-back-its-whaling-program
- https://thematter.co/thinkers/japanese-whaling-case/68252
- https://iwc.int/sanctuaries
- https://thestandard.co/japan-whale-hunting/