โอ๊ย! อยากเอาเท้าก่ายหน้าผาก WTO คาดเศรษฐกิจโลกดิ่ง 32% ตัวการคือใครคงไม่ต้องเสียเวลาสอบสวน “ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่” ผู้ก่อโรค “โควิด-19”
หลังรอดูสถานการณ์มาสักระยะหนึ่ง จนเมื่อวันที่ 08/04/2020 องค์การการค้าโลกได้ออกเอกสารข่าวการประเมินจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจโลกที่อาจเกิดขึ้น
ต้องยอมรับว่าในช่วงชีวิตของคนส่วนใหญ่ยุคนี้ไม่เคยเผชิญกับโรคระบาดขนาดใหญ่เท่านี้มาก่อน
เราขาด “ประสบการณ์”
ดังนั้น มาตรการรับมือที่ประกาศใช้จึงเป็นอะไรที่เฉพาะหน้ามาก ๆ บกพร่องหรือขาดอะไรไปก็ค่อยตามแก้ พร้อมกับเรียนรู้เกี่ยวกับไวรัสและการตอบสนองของผู้คนต่อสถานการณ์ไปด้วย
เป้าหมายของการรับมือคือการควบคุมการแพร่ระบาดเป็นลำดับแรก และจากนั้นค่อยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดกับบุคคล บริษัท และประเทศ
ในปี 2020 นี้ คาดว่าเกือบทุกภูมิภาคทั่วโลกต้องประสบกับภาวะการค้าหดตัวด้วยตัวเลขสองหลักแน่นอน
หากโลกปราณีหน่อย การค้าขายของโลกจะลดลงที่ระดับ 13% และตามด้วยการฟื้นฟูในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่ก็ต้องทำใจเผื่อในกรณีเลวร้ายที่สุด ซึ่งการค้าอาจจะดิ่งลงไปถึง 32% และซบเซาต่อไปอีกยาวโดยไม่สามารถฟื้นตัวกลับมายังจุดที่ควรจะเป็นได้อีก
นักเศรษฐศาสตร์ของ WTO เชื่อว่าการหดตัวครั้งนี้น่าจะเลวร้ายกว่าครั้งวิกฤตการเงินช่วงปี 2008-2009 และ…
หลังวิกฤตคราวนั้น การค้าโลกไม่สามารถกลับไปสู่จุดเดิมตามแนวโน้มที่คาดการณ์ไว้ได้อีกเลย
วิกฤตปี 2008-2009 เริ่มที่ภาคการเงินและคลี่คลายลงไปด้วยการที่รัฐเข้าแทรกแซงด้วยนโยบายทางการเงินและการคลัง รวมถึงให้การสนับสนุนด้านรายได้กับผู้คนและธุรกิจ แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ เราต้องอยู่บ้านและยังต้องทำ social distancing ทำให้ทุกภาคส่วนชะงักไปหมด บางส่วนต้องปิดทำการ (ทั้งชั่วคราวและถาวร)
ที่โดนผลกระทบเต็ม ๆ คือ ภาคธุรกิจบริการ เช่น การเดินทางคมนาคม การท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น แม้การค้าขายสินค้าส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาการบริการเหล่านี้ แต่การลดลงหรือขาดหายไปของบริการบางอย่างอาจเป็นการหายไปตลอดกาล ส่วนหนึ่งเพราะผู้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และเดิมทีก็มีการ disruption อยู่แล้ว
การที่ผู้คนริ่มทำงานที่บ้านผ่านอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายโทรคมนาคมเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนอย่างหนึ่งที่ชัดเจนมาก ซึ่งภาคธุรกิจที่ให้บริการด้านนี้ได้รับประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิม แต่สิ่งที่น่าคิดคือ
หลังวิกฤตครั้งนี้ผู้คนจะใช้ชีวิตกันต่อไปในลักษณะไหน?
การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนเป็นสิ่งชั่วคราวหรือถาวร?
อาจมองได้ว่าโรคระบาดคราวนี้มาเร่งการ disruption ให้เร็วขึ้นก็ได้
เงื่อนไขสำคัญสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากนี้ขึ้นอยู่กับเวลาและสิ่งที่ตัดสินใจทำ ณ ตอนนี้
เวลาที่ว่านี้คือมุมมองต่อช่วงระยะเวลาของการระบาด หากผู้คนและภาคธุรกิจมองว่านี่เป็นเรื่อง “ชั่วคราว” การฟื้นฟูจะกลับมาได้เร็ว แต่หากว่าเป็น “นานแน่” และ/หรือ “ไม่รู้แน่” นั่นจะยิ่งทำให้คนชะลอและระมัดระวังการใช้จ่ายต่อไปแบบไม่แน่เช่นกัน
สิ่งที่ควรทำตอนนี้ (ซึ่งก็ต้องพึ่งพาการหมอดูแม่น ๆ เพื่อข้อมูลแม่น ๆ) คือนโยบายการเงินและการคลังที่จะใช้ในช่วงนี้และหลังการระบาดของเชื้อไวรัส ซึ่งจำต้องปูทางเพื่อการฟื้นฟูที่แข็งแกร่ง ยั่งยืน และครอบคลุมสังคมทุกระดับชั้น และหากยิ่งนานาประเทศร่วมมือกันอีก การฟื้นฟูคงรวดเร็วมากขึ้นอย่างแน่นอน
อ้างอิง