ปิดเทอมยาวที่ไม่เบิกบาน เมื่อเรือสำราญไร้งานพากันจอด ไร้วี่แวววันเปิดกิจการ
ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมเป็นต้นมา มีเรือสำราญส่วนน้อย (มาก) และเป็นเรือขนาดรองรับคนได้ประมาณ 400 คนที่ยังสามารถรับผู้โดยสารออกเรือท่องเที่ยวตามตารางได้ตามปกติ แถมต้องเป็นตารางเที่ยวแบบโลคัลสุด ๆ ไม่ได้ไกลและไม่ได้ยาว ทีนี้ปัญหามันก็อยู่ตรงที่ว่าเรือยักษ์อื่น ๆ ที่เหลือจะถูกจัดการอย่างไร?
จอดสนิทสิครับ
และนี่คือเรื่องใหญ่เพราะโลกไม่ได้เตรียมพื้นที่ไว้ให้เรือสำราญทุกลำจอดโดยพร้อมเพรียงกันแบบนี้
ไม่ต่างจากเครื่องบินที่หาที่จอดกันจ้าละหวั่น
ถ้าโชคดีก็มีท่าเรือให้จอดเทียบสบาย ๆ ไม่ต้องกังวลกับปัญหาที่อาจตามมาอีกเยอะ โชคร้ายหน่อยก็ต้องไปทอดสมอจอดกลางทะเลแบบไม่มีทางเลือก
เอาแค่เฉพาะสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรือสำราญ 15 ลำจอดรวมตัวกันที่บริเวณประเทศหมู่เกาะบาฮามาส ส่วนเรือสำราญลำใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Symphony of the Seas ต้องไปจอดรับลมอยู่แถวโดมินิกัน
และนั่นจะเป็นเรื่องรองไปเลยถ้านำมาเทียบกับค่าใช่จ่ายในการดูแลรักษาเรือที่สูง ‘ปรี๊ด’ ปรอทแทบแตก
ยกตัวอย่างจาก Carnival Corp. บิ๊กสุดของวงการนี้ ตัวเลขส่วนนี้คือ $250,000,000/สัปดาห์
ซึ่งผลจากการที่รับลูกค้าไม่ได้แบบนี้ บริษัทขาดทุนไป $4,400 ล้านเฉพาะในควอเตอร์ที่สองของปีนี้
เรือสมัยใหม่ก็ไม่ต่างจากรถที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้จอดดับเครื่องกันยาว ๆ
ดังนั้น เจ้าของเรือจึงต้องเลือกระหว่าง ‘warm layup’ หรือ ‘cold layup’
warm layup นี่คล้าย ๆ กับการอุ่นเครื่องรอ ระบบต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่ของเรือยังคงทำงานอยู่
ข้อดีของวิธีนี้คือเรือสามารถกลับมาให้บริการได้อย่างรวดเร็วในเวลาไม่นาน แต่…
ข้อเสียคือมันใช้ทรัพยากรในการดูแลมหาศาล ทั้งคนและสิ่งของ และ
วิธีนี้ไม่เหมาะสำหรับระยะยาว เต็มที่ก็ไม่เกิน 6 เดือน ไม่เช่นนั้นงานงอกทั้งปัญหาค่าใช้จ่ายและใบอนุญาต
cold layup คือทำให้เรือเกือบเข้าสู่สภาวะเกือบจำศีล มีระบบสำคัญจริง ๆ เท่านั้นที่ยังคงเดินเครื่องอยู่
ข้อดีก็ชัดเจนว่าใช่คนและทรัพยากรน้อยกว่า
แต่ค่าใช้จ่ายมันจะไปอยู่ที่ตอนจะสตาร์ทเครื่องเดินเรืออีกครั้ง มันใช้ทั้งเวลาและต้องดำเนินการตรวจสอบยกใหญ่
ดังนั้น ถ้าไม่คิดจอดนานจริง ๆ คงไม่มีใครเลือกวิธีนี้
ทางเลือกที่ไม่น่าเลือกที่สุดคงเป็น ‘ดับเครื่องสนิท’
นี่จะเป็นฝันร้ายของเจ้าของเรือเลยทีเดียว เพราะข้าวของและอุปกรณ์ต่าง ๆ บนเรือนี่เหมือนระเบิดเวลานับถอยหลังรอวันพังอย่างเดียว และพังอย่างไวซะด้วย
ที่แน่นอนหน่อย น่าจะมีเพียงในอเมริกาที่มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะกลับมาดำเนินธุรกิจไม่เร็วไปกว่าวันที่ 15 กันยายน แต่...สถานการณ์โลกตอนนี้ โควิด-19 ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งอะไร ๆ มันก็ไม่แน่นอนเอาเสียใจ
ทำได้อย่างเดียวตอนนี้คือ ‘ทำใจ’ และ เฮ้อออ...
อ้างอิง