World Maritime theme for 2020 'Sustainable shipping for a sustainable planet' รวมพลังชาวเรือเพื่อโลก IMO สุดครีเอตคิดธีมกำหนดทิศทางให้เหล่าสมาชิก
International Maritime Oraganization (IMO) คือหน่วยงานตัวแทนพิเศษสังกัดองค์การสหประชาชาติผู้มีความรับผิดชอบโดยตรงด้านความมั่นคงและความปลอดภัยเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าทางทะเลและปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเลและมลพิษต่อชั้นบนรยากาศที่เกิดจากเรือ ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 174 ประเทศ (ไทยเราเข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 1973)
ที่เล่ามาให้ฟังทั้งหมดต้องการบอกว่า IMO ก็ไม่ต่างจากพี่ใหญ่ในวงการเรือ แม้จะไม่ได้ออกแนวบังคับหรือเป็นคำสั่ง แต่การให้ความร่วมมือที่ดีของเหล่าสมาชิกเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับ IMO และยังเป็นการสร้างมาตรฐานอันหนึ่งอันเดียวกันของบรรดาเหล่าสมาชิก
เทรนด์ของโลก ณ ปัจจุบันนี้มุ่งไปที่การรณรงค์รักษ์โลกแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเริ่มตั้งแต่หน่วยเล็ก ๆ อย่างในครอบครัวก็มีการเชิญชวนให้แยกขยะและลดการใช้พลาสติก ไปจนถึงองค์กรใหญ่เช่นองค์การสหประชาชาติเองยังมีแผนงานที่มีชื่อว่า '2030 Agenda for Sustainable Development' โดยมีเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนทั้งหมด 17 อย่าง และในจำนวนนี้มีบางเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการรักษ์โลกอยู่บ้าง
จากเป้าหมายทั้งหมดนั้นมีเป้าหมายที่ 13. Climate Change และ 14. Life Below Water ที่ IMO น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง
ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการ IMO ครั้งที่ 122 ที่สำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอนได้มีการวางธีมกรอบการทำงาน “Sustainable shipping for a sustainable planet-การขนส่งที่ยั่งยืนเพื่อโลกอันยั่งยืน” เพื่อเป็นการต้อนรับทศวรรษใหม่ที่จะเริ่มตั้งแต่ปี 2020 อันถือเป็น 10 ปีแห่งการตัดสินสำหรับทุกชีวิตบนโลก เพราะหากทุกกิจกรรมเพื่อปกป้องโลกไม่ส่งผลอย่างเป็นรูปธรรม พวกเราจะเข้าสู่ Point of no return
ธีมการทำงานที่กำหนดขึ้นนี้มีเพื่อเน้นให้เหล่าสมาชิกคอยระลึกถึงเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนที่ต้องการบรรลุร่วมกันและทำให้สมาชิกมีความยืดหยุ่นในการทำงานเพราะไม่ได้กำหนดอะไรที่เฉพาะเจาะจง เป็นการเปิดกว้างให้สมาชิกได้สร้างสรรค์กันอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังเป็นการสื่อให้คนภายนอกได้รับรู้ว่า IMO และเหล่าสมาชิกให้ความสำคัญกับเป้าหมายใหญ่ขององค์การสหประชาชาติอย่างจริงจัง
ตลอดเวลาที่ผ่านมาวงการอุตสาหกรรมเรือได้เริ่มการเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนมาโดนยตลอด ดังจะเห็นได้ว่ามีการกำหนดอัตราการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดสัดส่วนซัลเฟอร์ในน้ำมันที่ใช้ในเรือ การปกป้องพื้นที่ขั้วโลก เพิ่มประสิทธิภาพงานขนส่งโดยการแลกเปลี่ยนทางอิเล็กทรอนิกส์เรื่องข้อมูลต่าง ๆ และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย
IMO เชื่อว่ายังมีเทคโนโลยีและองค์ความรู้อีกมากมายที่ยังไม่ถูกนำมาใช้หรือลองศึกษา ธีมกรอบการทำงานแบบเปิดกว้างแต่ชัดเจนในทิศทางนี้จะกระตุ้นให้เหล่าสมาชิกกล้าลองทำอะไรใหม่ ๆ เพื่อรักษาโลกให้คงอยู่ยาวนานยันลูกหลานสืบไป
อ้างอิง