เหนื่อยจุง! เฝ้าเรือนานขนาดนี้ต้องมีโล่ให้บ้างนะ
ขณะที่ตัวเลขสะสมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกเพิ่มขึ้นรายวัน ตัวเลขกะลาสีที่นอนเฝ้าเรือก็ค่อย ๆ ขยับขึ้นเช่นกัน ตามรายงานของสภาหอการค้าขนส่งทางเรือ (International Chamber of Shipping) พบว่าขณะนี้มีกะลาสีรอผลัดเปลี่ยนและรอกลับบ้านร่วม 200,000 คนเข้าไปแล้ว
ที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นคือ มีกะลาสีบางคนต้องจำใจอยู่บนเรือนาน 15 เดือน!
นี่มันมากกว่าระยะเวลาสูงสุดที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาแรงงานทางทะเล (maritime labor convention) ที่ให้คนประจำเรืออยู่ทำงานบนเรือได้ไม่เกิน 12 เดือน ซึ่งท่านเลขาธิการทั่วไป IMO ถึงกับออกมาบอกว่านี่คือ ‘วิกฤตด้านมนุษยธรรม’
สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (International Transport Workers’ Federation) ออกมาสำทับว่า การบังคับให้กะลาสีเหล่านี้ทำงานต่อไปเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ‘ถ้าสัญญาการทำงานของคุณสิ้นสุดแล้ว คุณมีสิทธิกลับบ้าน หรือถ้ากลับไม่ได้ คุณก็ต้องอยู่บนเรือในฐานะผู้โดยสาร’
ที่ผ่านมา องค์กรที่เกี่ยวกับการขนส่งทางทะเลได้พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลแต่ละประเทศอนุญาตให้มีการผลัดเปลี่ยนลูกเรือเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้ได้พยายามหารือและวางมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการระบาดทั้งจากบกไปเรือและจากเรือมาบกทุกวิถีทางเพื่อให้การผลัดเปลี่ยนเกิดขึ้นได้ แต่สุดท้ายก็ต้องรอความร่วมมือจากรัฐบาลของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ
ก็น่าเห็นใจทุกฝ่ายอยู่เหมือนกัน เท่าที่ตามข่าวมา องค์กรต่าง ๆ ก็พยายามทำหน้าที่เต็มที่แล้ว รัฐบาลก็ต้องดูแลคนเช่นเดียวกัน
แต่ถึงจุดนี้ หากยังต้องการให้เรือแล่นต่อไปเพื่อให้ซัปพลายเชนของโลกไม่สะดุด การผลัดเปลี่ยนลูกเรือต้องเกิดขึ้นจริง ๆ แล้ว การฝืนเดินเรือด้วยลูกเรือที่เหนื่อยล้านี่มันเสี่ยงต่อความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินสุด ๆ
ข่าวน่ายินดีที่สุดตอนนี้คงไม่พ้นที่สิงคโปร์ เพราะตั้งแต่ที่องค์กรหลายแห่งทั้งในและนอกประเทศร่วมกันออกไกด์บุ๊กสำหรับผลัดเปลี่ยนลูกเรือในช่วงโควิด-19 ระบาด นับตั้งวันที่ 6 จนถึงวันที่ 15/06/2020 มีลูกเรือร่วม 4,000 คนเซ็นชื่อขึ้น-ลงเรือได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีไฟลท์เช่าเหมาลำนำเพื่อนพ้องมาสลับตัวกันโดยเฉพาะ โดยทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างเข้มงวดและคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก
งานนี้ เหล่ากะลาสีที่อยู่ที่นั่นยิ้มกว้างกันถ้วนหน้า
ขั้นตอนต่าง ๆ ที่สิงโปร์ใช้อยู่จะมีการทบทวนไตร่ตรองอย่างต่อเนื่องตามสถานการณ์ทั้งในประเทศและของโลก หวังว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์จะไปกระตุ้นให้ที่อื่น ๆ ยึดถือเป็นแนวทางได้บ้าง เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของเหล่ากะลาสีผู้ปิดทองหลังพระ
อ้างอิง