รอลงเรือนาน เเล้วสิ้นเดือนนี้จะเอาอะไรกิน! พบกับ 5 ทางเลือกเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินสำหรับคนประจำเรือในช่วงระหว่างรอเรือ เพราะว่าเรื่องปากท้องต้องมาก่อน!
จากสภาวะเศรษฐกิจซบเทรา, ราคาน้ำมันที่ไม่ดีขึ้นสักที, ภาวะโรคระบาด, การเมืองที่ร้อนระอุ, การเปลี่ยนเเปลงทางเทคโนโลยี, ภัยธรรมชาติ หากได้ติดตามข่าวปัจจุบันจะพบว่ามันช่างเป็นช่วงเวลาที่เปราะบางเเละวัดใจจริงๆ
จากรายงานหนี้ครัวเรือนของธนาคารเเห่งประเทศไทยในส่วนของพนักงานเงินเดือนทั่วไปพบว่าส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการกู้เงินซื้อบ้าน ซื้อรถ เเละหนี้บริโภคบัตรเครดิต ซึ่งคนประจำเรือหลายๆคนก็อยู่ในกลุ่มตัวเลขนี้
เเม้ปัจจัยด้านบนจะทำให้ทุกๆอาชีพต้องหาอาชีพเสริมเพื่อรับมือกับสถาณการณ์ไม่คาดฝัน เเต่สำหรับคนประจำเรือเเล้วยังมีอีก 2 ปัจจัยที่เป็นปัจจัยเฉพาะได้เเก่
- อันดับที่ 1 คือ รายได้ของคนประจำเรือที่ได้ในลักษณะของสัญญาจ้าง หมดสัญญาไม่ได้เงิน สวนทางกับค่าใช้จ่ายประจำที่ดำเนินต่อเนื่องทุกสิ้นเดือน ซึ่ง Fix Cost รายเดือน กับรายได้ที่ไม่ประจำถือเป็นความเสี่ยงอย่างสูงทางด้านการเงิน
- อันดับที่ 2 สถาณการณ์ปัจจุบันคนเรือต้องรอลงเรือนานขึ้นกว่าปกติ ในปัจจุบันบริษัทเรือเจ้าใหญ่ๆ เริ่มมีการหมุนเวียนคนประจำเรือถี่ขึ้นเพื่อให้คนประจำเรือทุกคนขององค์กรได้ลงทำงานอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาทำงานสั้นลง ทำให้คนประจำเรือบางกลุ่มอาจจะต้องรอ 3-6 เดือน บางคนอาจจะต้องรอเป็นปีๆ สืบเนื่องจากจำนวนคนประจำเรือที่เยอะขึ้นสวนทางกับอัตราจ้างงานที่ลดลง ทำให้ภาวะการหมุนเวียนคนประจำเรือเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนที่เคยอยู่เรือนานอยู่บ้านไม่กี่อาทิตย์
อาชีพคนประจำเรือเป็นวิชาชีพเฉพาะด้านที่ต้องมีทักษะความรู้หลากหลาย ทั้งการเดินเรือ การพยากรณ์อากาศ การดูเเลสินค้า คำนวนการทรงตัว การซ่อมบำรุงตัวเรือ การดูเเลเครื่องจักร การรักษาพยาบาล การจัดการ เเละภาษาอังกฤษระดับสื่อสาร มีความรับผิดชอบ มีความกล้าเเละสามารถเเบกรับความกดดันมหาศาลได้ เพราะอย่างนี้จึงไม่ใช่เรื่องยากในการปรับตัวรับมือสำหรับทุกสถาณการณ์
มาดู 5 ทางเลือกเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินในช่วงระหว่างการรอทำการในเรือ
- มือปืนรับจ้าง - การลงเรือในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ในเขตการเดินเรือสายในประเทศ เพื่อยังคงรักษารายได้ ถึงเเม้จะได้ไม่สูงเท่ากับสายงานเรือต่างประเทศหรือสายงานออฟชอร์ เเต่ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดี สิ่งที่ต้องระวังคือต้องจัดการ Period ของการลงทำการให้ดี ไม่ทับซ้อนจนเสียโอกาสที่ดีที่สุดไป ทางที่ดีควรเเจ้งเเก่ฝ่ายคนประจำเรือของบริษัทหลักเเละบริษัทที่ลงทำการชั่วคราวให้เข้าใจในเงื่อนไขของเรา
- ขอสมัครทำงานฝั่งออฟฟิศชั่วคราว - สำหรับนักเดินเรือระดับกลางถึงระดับอาวุโส ตัวเลือกการทำงานในออฟฟิศสายการเดินเรือไม่ว่าจะเป็น ตำเเหน่ง Superintendent ในฝั่ง Technical, Operation หรือ HSE, ตำเเหน่ง Crewing Officer, ตำเเหน่ง Training Master หรือ ตำเเหน่ง Audit Inspector ต่างๆ เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ โดยทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการอนุโลมของนายจ้างฝั่งออฟฟิศสำหรับระยะเวลาการทำงานที่สั้นในเเง่ที่ถ้ามีเรือให้ลงก็พร้อมที่จะกลับไปลงโดยทันที เเต่ข้อดีของการทำงานในฝั่งออฟฟิศจะช่วยให้เห็นภาพรวมของการบริหารมากขึ้น สามารถนำเอาประสบการณ์เเละวิชาความรู้มาช่วยพัฒนาองค์กรได้
- ใช้ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญรับงานโปรเจคท์สั้นๆที่ยังคงเกี่ยวข้องกับสายวิชาชีพการเดินเรือ - อย่างเช่น การรับงานโปรเจคท์สั้นๆในอู่ต่อเรือ, เป็นซัพพลายเออร์อุปกรณ์ที่ใช้ในเรือ หรืองานผู้ดูเเลสินค้า (Cargo Supervisor) ตามท่าเรือต่างๆ
- นักวิชาการหรืออาจารย์พิเศษในสถาบันฝึกอบรม - คนประจำเรือส่วนใหญ่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพเป็นทุนเดิมอยู่เเล้ว การนำประสบการณ์ความรู้ที่มีมาถ่ายทอดสู่เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ถือเป็นเรื่องที่ดีเเก่วงการเรือไทยเเถมยังได้รายได้เข้ากระเป๋าอีกด้วย
- เริ่มต้นผันตัวเองเป็นผู้ประกอบการ - ตัวเลือกนี้สำหรับคนที่วางเเผนชีวิตเเละเเผนการเงินไว้ดี เก็บเงินจนพอเเละพร้อมสำหรับการลงทุน การจะสร้างอาชีพเสริมส่วนใหญ่เเล้วเเต่ความถนัดเเละการศึกษาจนเชี่ยวชาญ เช่น การทำการเกษตรเลี้ยงสัตว์ เปิดอู่ซ่อมเรือหรือรถ กิจการหอพัก บริษัทซัพพลายเออร์ หรือการค้าขายทุกอย่างทั้งช่องทางออนไลน์เเละออฟไลน์ ทั้งนี้การเรียนรู้ตลอดเวลาเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการเป็นผู้ประกอบการ การลงเรียน ลงอบรมในสาขาวิชาชีพใหม่ เปิดใจเรียนรู้ ปลูกฝัง "Growth Mindset" ในตัวเองเป็นสิ่งที่ต้องเริ่มทำ ปัจจุบันมีอาชีพเกิดใหม่มากมายที่เป็นที่ต้องการของตลาด การเริ่มทำก่อนจะสร้างความได้เปรียบ เเต่ถ้าอยู่ๆบริษัทเรียกลงเรือจะกลับลงไปเพื่อเก็บเงินเพิ่มก็ไม่เสียหาย
ทั้งนี้ยังมีอีกหลายช่องทางที่นอกเหนือจากที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นการเทรดหุ้นหรือทองคำ, ขายประกัน หรือการลงทุนอื่นๆ อันนี้เเล้วเเต่ความถนัดเเละความสามารถ เเต่ต้องดูเเลผลการลงทุนอย่างระมัดระวังเเละระวังโดนหลอกในลักษณะลูกโซ่
การจัดการด้านการเงิน, ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย, ดูเเล Fix Cost ให้ไม่เกิน 50% ของรายได้ เเละการมีเงินเก็บสำรองสำหรับการว่างงานนานๆเป็นเรื่องที่ต้องคิดเเละจัดการตั้งเเต่เนิ่นๆ การไม่ประมาทในเรื่องของการใช้จ่ายในยุคนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นของคนประจำเรือ
ใครที่มีงานทำ ณ ตอนนี้ถือว่าโชคดีเเล้ว ส่วนคนที่กำลังรอลงเรือถือว่าเป็นโอกาสใหม่ๆในการค้นหาความสามารถที่เเท้จริงของตัวเราเอง จงเอาสัญชาตญาณความเป็น "เป็ด" ที่มีอยู่ในนักเดินเรือทุกคนมาใช้ให้เกิดประโยชน์
สุดท้าย
- ถ้าสู้ ถ้าอดทน ถ้าดิ้นรน ไม่อดตาย -