“เรือชนรถ” บ้าไปแล้ว?! ยกนี้คาดเชือกแล้วดวลกันไปเลย
เตรียมเฮเลยครับพี่น้อง ทางฟากยุโรปเขามีโปรเจกต์ดันให้การเดินทางทางน้ำเข้ามาบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยจะใช้ประโยชน์จากเรือเล็กและท่าเรือที่เป็นการเดินทางในทะเลระยะสั้นและเส้นทางน้ำภายในแผ่นดิน ซึ่งปกติก็เป็นส่วนสำคัญของระบบคมนาคมของยุโรปอยู่แล้ว แต่คราวนี้จะอัปเกรดให้มันเป็นแบบออโต้เมติก ยืดหยุ่น และผู้คนเข้าถึงได้มากกว่าเดิม ซึ่งทั้งหมดนี้จะดำเนินการในชื่อโปรเจกต์ AEGIS
‘AEGIS’ มีชื่อเต็มว่า Advanced, Efficient and Green Intermodal Systems แปลไทยบ้าน ๆ ได้ว่าเครือข่ายการเดินทางสุดล้ำ สะดวกสบาย และรักษ์โลก เหล่าสมาชิกในโปรเจกต์เล็งเห็นว่าด้วยข้อจำกัดด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มงวดมากขึ้น ทั้งยังต้องลดเสียงและไม่ก่อมลพิษ วงการเรือนับว่าได้เปรียบการเดินทางทางบกมากกว่า
AEGIS โฟกัสไปที่การนำเรือขนาดเล็ก เส้นทางน้ำในแผ่นดิน และเส้นทางเดินเรือในทะเลระยะสั้นผนวกเข้ากับเทอร์มินัลขนาดใหญ่ที่เป็นท่าเรือหลักเพื่อสร้างระบบคมนาคมขนส่งขึ้นมาใหม่ โดยเน้นว่าต้องให้ผู้คนทั่วไปเข้าถึงได้สะดวก มีบริการทั่วถึงทั้งในตัวเมืองและชนบทที่ห่างไกล ซึ่งเท่ากับเป็นการฟื้นฟูท่าเรือในพื้นที่นั้น ๆ ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
โปรเจกต์เพิ่งเริ่มตั้งได้ไม่นานและอยู่ในช่วงทำการศึกษาดูความเป็นไปได้ โดยได้เลือกพื้นที่ศึกษามา 3 กรณี ได้แก่
กรณีศึกษา A - เทอร์มินัลทางทะเลระยะสั้น:
เป็นการใช้เรือขนส่งสินค้าขนาดเล็กเพื่อเชื่อมเรือส่งสินค้าขนาดใหญ่จากบริเวณท่าเรือหลักตามแนวชายฝั่งไปยังพื้นที่ชนบทหรือบริเวณชายฝั่งด้านที่ผู้คนหนาแน่นน้อยกว่า โดยมุ่งลดจำนวนการใช้บริการท่าเรือหลักเพื่อความรวดเร็ว และขนของลงเรือเล็กที่ขับเคลื่อนโดยไม่ต้องใช้คนขับให้ส่งของถึงจุดหมายปลายทาง
กรณีศึกษา B - เชื่อมเส้นทางในทะเลระยะสั้นกับเส้นทางน้ำภายในแผ่นดินในประเทศเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์:
ลักษณะคล้าย ๆ กับกรณี A แต่เน้นไปที่เรือ RORO (Roll-on/roll-off) โดยเชื่อมท่าเรือตามที่ต่าง ๆ ในยุโรปตอนเหนือให้มาลงที่ท่าเรือหลักของเมือง Rotterdam, Ghent และ Zeebrugge จากนั้นใช้เส้นทางน้ำที่เล็กกว่าต่อไปยังเมือง Flanders มุ่งเน้นให้ส่งสินค้าด้วยเรือจนใกล้จุดหมายสุดท้ายมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้โดยใช้เรือขนาดเล็กที่ไม่ปล่อยมลพิษใด ๆ ทั้งสิ้น
กรณีศึกษา C - ฟื้นฟูท่าเรือภูมิภาคและเทอร์มินัลในตัวเมือง:
เคสนี้อยู่ที่ประเทศเดนมาร์ก เนื่องจากมีการพัฒนาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างติดริมน้ำเพิ่มขึ้น ท่าเรือสำหรับธุรกิจขนาดเล็กจึงต้องย้ายออกมานอกเมือง แต่ก็ยังอยู่ในสถานที่ตั้งชั้นดี การพัฒนาให้เทอร์มินัลในเมืองบริหารงานด้วยต้นทุนต่ำลงและรักษาฐานผู้ใช้บริการให้มีคนเข้ามาอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้สามารถแข่งขันกับการเดินทางบนถนน อีกทั้งยังมีการพัฒนาภาคส่วนเรือ RORO และจัดให้มีการขนส่งหลากหลายรูปแบบที่ไม่มีการปล่อยมลพิษ ซึ่งจะเชื่อมการขนส่งในทะเลระยะสั้นเข้ากับการเดินทางด้วยรถไฟ
โปรเจกต์ใช้เวลาศึกษา 3 ปี โดยได้รับเงินสนับสนุนจากสหภาพยุโรปเป็นจำนวน 7.5 ล้านยูโร มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาเข้าร่วม มุ่งหวังให้ระบบการเดินทางทางน้ำในยุโรปก้าวสู่ยุคใหม่ที่ยั่งยืนและสามารถแข่งขันกับตัวเลือกอื่นอย่างสูสี ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเรือหรือท่าเรือเล็กใหญ่ ไซส์ไหนก็ตาม รับรองได้เลยว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในระบบใหม่นี้แน่นอน
อ้างอิง