Big data + Engineering geek วิศวะขอแจม ความช่วยเหลือแบบเนิร์ด ๆ
CONTENT นี้ก็เกี่ยวกับโควิด-19 เช่นเคย มันเลี่ยงยากอะนะเพราะเฮียเขาเล่นแวะไปเยี่ยมเยียนทุกที่เลย
ความร้อนแรงตอนนี้เหมือนจะก้ำกึ่งระหว่าง ‘การตามดูตัวเลขสถิติผู้ติดเชื้อ’ กับ ‘การรอมาตรการเยียวยา’ แต่สิ่งที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องคือการปรับปรุงและเพิ่มเติมการป้องกันและการเฝ้าระวัง
เราจะมาพูดถึงจุดนี้ในมุมที่เกี่ยวกับเรื่องเรือ ๆ ดีกว่า
โปรเจกต์นี้ริเริ่มโดย CCRi ซึ่งเป็นบริษัทอเมริกันผู้เป็นโปรด้านการใช้ข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์และแก้ปัญหา ครั้งนี้เป็นความท้าทายของทีมงานเพื่อดูว่าจะติดตามผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อการจราจรทางทะเลโดยใช้ทรัพยากรที่บริษัทมีอยู่ได้หรือไม่
ตั้งต้นที่ Optix platform ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับวิเคราะห์และแสดงผลข้อมูล นำมาจับยัดด้วย ข้อมูล Automatic Identification System (AIS) ที่ไว้ใช้ระบุเรือแต่ละลำ ตามด้วยรหัส LOCODE เพื่อกรองเอาเฉพาะเรือที่มีปลายทางตามที่ต้องการค้น (ในที่นี้เป็นอเมริกา) ขั้นตอนนี้จะเป็นการจำกัดรายชื่อเรือที่ต้องจับตามอง
จากนั้น จะใช้ข้อมูล Maritime Mobile Service Identity (MMSI) เพื่อให้รู้ว่าเรือที่กำลังมาอเมริกาเคยไปไหนมาบ้างในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา และจุดไคลแมกซ์คือต้องรู้ให้ได้ว่าท่าเรือสุดท้ายที่เรือถอนสมอออกมาคือที่ใด ขั้นนี้จะใช้ข้อมูล world port geometry layer เพื่อทำการวิเคราะห์หาชื่อท่าเรือสุดท้ายของเรือ
เพียงเท่านี้ก็จะเห็นแนวโน้มและจำนวนของเรือทั้งหมดที่จะเข้ามาได้แล้ว
เหนือไปกว่านั้น ทีมงานยังได้สร้าง “คะแนนความเสี่ยงต่อโควิด-19” โดยคำนวณจากตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่ได้ยืนยันแล้วกับระยะทางจากที่ตั้งท่าเรือและจุดที่เกิดการระบาด ซึ่งคะแนนที่ออกมานี้จะเป็นตัวช่วยสำหรับใช้งานต่อไป
การรับรู้ว่าเรือลำไหนเดินทางมาจากท่าเรือสุ่มเสี่ยง ซึ่งตามโปรแกรมจะมีคะแนนความเสี่ยงสูง ทำให้ท่าเรือปลายทางเตรียมตัวได้เหมาะสม
ทั้งหมดนี้ช่วยเหลืออะไรได้?
ณ ตอนนี้ท่าเรือหลายแห่งใช้มาตรการกักเรือไว้กลางทะเล 14 วันก่อนยอมให้เทียบท่า ทำให้การค้าขายและขนถ่ายสินค้าชะงักไปหมด.
ด้วยข้อมูลชุดนี้ หน่วยงานที่ดูแลท่าเรือ องค์กรรัฐ และองค์กรสาธารณสุขสามารถนำไปใช้ประเมินว่าควรใช้มาตรการใดและที่เวลานานเท่าใด ในขณะเดียวกันก็ประเมินผลด้านการค้าขายและเปลี่ยนสินค้า เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจของประเทศมันแย่ไปมากกว่านี
นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการใช้ความรู้ความสามารถอย่างสร้างสรรค์ท่ามกลางวิกฤตการณ์หนักหน่วงระดับโลก
บางคนอาจไม่ได้มีความรู้ความสามารถโดดเด่น แต่เพียงแค่รู้จักป้องกันตัวเองให้ดี เท่านี้ก็เท่ากับเพิ่มความอุ่นใจให้คนรอบข้างก็พอแล้ว
สุดท้าย "เราจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน"
อ้างอิง
- https://maritime-executive.com/article/covid-19-a-maritime-perspective-1
- http://www.ccri.com/2020/04/03/covid-19-a-maritime-perspective/