“คล้อยตามข้าอยู่ ใครฝืนข้าสิ้น” เป็นคำพูดที่ตัวละครเรืองอำนาจในนิยายกำลังภายในจีนชอบพูดกัน และหากตัวละครเป็นฮ่องเต้ โอรสสวรรค์ผู้บ้าอำนาจด้วยแล้วจะต้องพูดแน่นอน อำนาจล้นฟ้า บันดาลเมฆฝนลมแรงได้ดั่งใจนึก
แต่นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับโลก เกี่ยวกับธรรมชาติ มีทั้งพลังที่จะสร้างสรรค์และทำลายสรรพชีวิต!
กิจกรรมของมวลมนุษย์เพื่อการพัฒนาตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วง “ปฏิวัติอุตสาหกรรม” เป็นต้นมาได้รบกวนความเป็นไปของโลก ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาการต่าง ๆ ที่ล้ำสมัยทำให้มนุษย์สามารถจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น จนเลยเถิดไปถึงแอบคิดอย่างองอาจว่าสามารถควบคุมและจัดการธรรมชาติได้ แต่ผลสุดท้ายมนุษย์กลับเผชิญกับการตอบโต้ที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากธรรมชาติ และบ่อยครั้งมากขึ้นอีกด้วย ถึงที่สุดเราเริ่มตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนกับธรรมชาติ
ในการสัมมนา Nor-Shipping 2019 ที่เมืองออสโล ประเทศนอร์เวย์ นายคีทัก ลิม (Kitack Lim) เลขาธิการใหญ่ประจำ International Maritime Organization (IMO) ได้ย้ำถึงความสำคัญอย่างที่สุดในการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน ท่านกล่าวถึง Sustainable Development Goals (เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน) ซึ่งมีทั้งหมด 17 เป้าหมายอันเป็นส่วนหนึ่งของ 2030 Agenda for Sustainable Development (วาระ 2030 เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน) ขององค์การสหประชาชาติตั้งแต่ปี 2015 โดย IMO มีพันธสัญญาที่มั่นคงในการนำมาปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลอย่างจริงจัง
เพื่อยืนยันในเรื่องนี้ IMO ได้ผุดโพรเจกต์เพื่อสิ่งแวดล้อมมากมาย ยกตัวอย่างเช่น
GloMEEP (Global Maritime Energy Efficiency Partnerships)
มีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งทางเรือใน 10 ประเทศนำร่อง (Lead Pilot Countries) โดยการนำมาตรวัดประสิทธิภาพการใช้พลังงานมาใช้และปฏิบัติ
GloFouling Partnerships
เพราะเล็งเห็นถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ การมีสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่อาจแฝงตัวมากับตัวเรือเข้ามาทำลายความสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตเจ้าถิ่นได้ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือในโพรเจกต์นี้ โดยมีการกำหนดแนวทางเพื่อควบคุมและจัดการสิ่งมีชีวิตที่ยึดเกาะและเติบโตบนพื้นผิวที่เปียกของตัวเรือ (biofouling) ซึ่งจะพัฒนาต่อไปเป็นแนวปฏิบัติและมาตรฐานที่ดีที่สุดให้กับอุตสาหกรรมทางทะเลอื่น ๆ อีกด้วย
MTCC (Maritime Technology Cooperation Centre) Network
เครือข่ายความร่วมมือในการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและการสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศสมาชิกที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะกับประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุดและประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กที่กำลังพัฒนา โดยมีการจัดตั้งศูนย์ในภูมิภาคต่าง ๆ ดังนี้ แอฟริกา เอเชีย แคริบเบียน ลาตินอเมริกา และแปซิฟิก ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพในการใช้พลังงานในภาคการคมนาคมทางทะเล
MEPSEAS (Marine Environment Protection of South-east Asian Seas)
7 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ได้ร่วมจัดตั้งโครงการเพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมทางทะเลในภูมิภาคนี้ โดยการนำข้อตกลงเพื่อการป้องกันสิ่งแวดล้อมทางทะเลของ IMO ที่สำคัญมาปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยโครงการมีอายุทั้งสิ้น 4 ปี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกล้อมรอบไปด้วยทะเล พบว่ามีพื้นที่ชายฝั่งทอดยาวและ 30% ของพื้นที่ทะเลโลกอยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจของเหล่าประเทศในภูมิภาคนี้ นับได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อสภาพแวดล้อมทางทะเล
GreenVoyage 2050
โปรเจกต์ความร่วมมือระหว่าง IMO และรัฐบาลประเทศนอร์เวย์ในการเริ่มต้นและส่งเสริมความพยายามเพื่อพิสูจน์และทดสอบวิธีทางเทคนิคเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงเพิ่มพูนความรู้และการแบ่งปันข้อมูลให้กับประเทศผู้เข้าร่วมโครงการ โดยมี 8 ประเทศนำร่องก่อนในระยะเวลา 2 ปี
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เพื่อความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืนของธรรมชาติและประสิทธิภาพของการขนส่งทางเรือ และเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งทางทะเลทั่วโลก
IMO ยังมีโปรเจกต์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความยั่งยืนอีกมากมาย
“คล้อยตามข้าอยู่ ใครฝืนข้าสิ้น” ที่ธรรมชาติแม้ไม่เคยพูดออกมา แต่มนุษย์ควรคล้อยตามธรรมชาติ เพราะมนุษย์นั้นเป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของธรรมชาติ
อ้างอิง
-
https://www.un.org/sustainabledevelopment/development-agenda/
-
http://www.imo.org/en/OurWork/Environment/MajorProjects/Pages/GlooMEEP.aspx
-
http://www.imo.org/en/OurWork/Environment/MajorProjects/Pages/GloFouling-Project.aspx
-
http://www.imo.org/en/MediaCentre/PressBriefings/Pages/11-MEPSEASLAUNCH.aspx
-
https://www.marinelink.com/news/mepseas-project-event-viet-nams-seas-466908
-
http://www.imo.org/en/MediaCentre/PressBriefings/Pages/08-green-voyage-2050.aspx