‘5 การเปลี่ยนแปลง’ บนเรือสำราญ หลังโควิด-19 ผ่านพ้น มีอะไรบ้างมาดูกัน
ตอนนี้ก็เกือบเข้าช่วงปลายปีแล้ว เราคงชินชากับความนิ่งเงียบและทำอะไรไม่ค่อยสะดวกเต็มที่เพราะโควิด-19 เป็นเหตุกันเสียแล้ว เชื่อว่าทุกคนต่างเฝ้ารอช่วงเวลาหลังโควิด แน่นอนว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะค่อย ๆ กลับมา แต่ก็มีบางสิ่งที่อาจไม่เหมือนเดิม
สิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเพียงการวิเคราะห์เท่านั้น ซึ่งอาจมาแล้วก็ไป หรือ คงอยู่ตลอดก็เป็นได้
และนี่คือการเปลี่ยนแปลง 5 สิ่งที่อาจมีขึ้นบนเรือสำราญหลังยุคโควิด-19
1. การตรวจสุขภาพก่อนลงเรือและระหว่างล่องเรือ
มันก็คล้าย ๆ การตรวจอุณหภูมิและเช็กอินก่อนเข้าห้างที่เราทำกันจนเป็นปกตินี่ล่ะ เพียงแค่มันอาจจะเข้มงวดจนถึงขั้นว่าต้องมีใบรับรองแพทย์ยืนยัน เพราะทางผู้ให้บริการก็ไม่อยากให้เหตุการณ์เหมือนอย่างกรณีเรือ Diamond Princess บ้างก็มีการเสนอให้เช็กอินลงเรือออนไลน์และออกแบบจุดรอลงเรือใหม่เพื่อลดความแออัดของผู้โดยสาร และเมื่ออยู่บนเรือก็ต้องตรวจสุขภาพอีกเป็นระยะ ๆ
2. ชีวิตบนเรือที่ต้องสะอาดและอนามัย (เกิ๊น)
หลังลงเรือแล้ว ก็ใช่ว่าผู้โดยสารจะสบายใจ บางทีอาจรำคาญใจที่ต้องเห็นลูกเรือทำความสะอาดฆ่าเชื้ออยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งยังต้องถูกบังคับให้หมั่นล้างมือ (หรืออาจพกอุปกรณ์กินดื่มส่วนตัวเพื่อลดการสัมผัส) ยังไม่นับว่าต้องอ่านทำความเข้าใจและทำตามมาตรการความสะอาดอื่นอีกเพียบ ซึ่งมีรายงานจาก USA Today ว่า บางทีผู้โดยสารอาจถูกขอให้ถอดเปลี่ยนชุดที่ใส่ขณะลงเรือใส่ถุงพลาสติกเพื่อนำไปซักฆ่าเชื้อกันเลยทีเดียว
3. โบกมือลาบุฟเฟต์ (แบบเดิม ๆ) ได้เลย
ผู้ให้บริการต่างขนลุกเมื่อเห็นคลิปที่ทางญี่ปุ่นเคยทำเพื่อแสดงให้เห็นว่าการตักบุฟเฟ่ต์โดยมีแค่เพียงคน ๆ เดียวติดเชื้อ สุดท้ายแล้วทุกคนที่กินบุฟเฟ่ต์นั้นต่างสัมผัสเชื้อกันหมด ผู้โดยสารต้องทำตัวให้ชินกับการนั่งโต๊ะและคอยเรียกบริกรมาสั่งและเสิร์ฟอาหาร หรือบางทีต้องหัดใช้มือถือหรือแท็ปเล็ตให้คล่องเพื่อดูเมนูและสั่งอาหาร
4. จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการกิจกรรมในร่ม
ห้องอาหาร ห้องชมภาพยนตร์ หรือห้องคลับคาเฟ่ต่าง ๆ จะจำกัดคนเข้าแน่นอน เพื่อเว้นระยะห่างระหว่างผู้คน อาจต้องจองสิทธิ์ก่อนเข้าใช้ และต้องใส่หน้ากากตลอดเวลาที่เข้ารับบริการอีกด้วย แต่ก็อาจมีทางเลือกให้ออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้งมากขึ้น อย่างไรก็ตามมันก็จะตามมาด้วยข้อแนะนำที่ว่า ‘กรุณาหลีกเลี่ยงบริเวณคนแออัด’
5. จัดสรรห้องหับและพื้นที่บนเรือใหม่
ผู้ให้บริการทุกเจ้าเห็นพ้องตรงกันว่าต้องมีการจัดพื้นที่ทางการแพทย์บนเรืออย่างจริงจังโดยแยกจากพื้นที่เพื่อความบันเทิงอื่นอย่างชัดเจน รวมถึงจัดให้มีบุคคลากรทางการแพทย์เพื่อพร้อมรับมือสถานการณ์ตลอดเวลา ห้องพักทุกห้องอาจไม่ถูกใช้งานครบเพราะเผื่อไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน ซึ่งอาจทำให้รายได้จากการขายตั๋วลดลงไปบ้าง
ถ้าทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจริง ก็ลำบากกันทั้งลูกเรือและผู้โดยสาร แต่…
ลูกเรือก็มีงานและเงิน
ผู้โดยสารก็ได้เปลี่ยนบรรยากาศบ้าง
สู้ ๆ นะ
อ้างอิง