นี่ก็เข้าเดือนที่ 5 แล้วตั้งแต่เราทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ที่ไม่ได้รับเชิญที่ชื่อว่า ‘โควิด-19’ และนับแต่นั้นมา ชีวิตของพวกเราไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพื่อนคนดียังพอมีดีอยู่ที่ทำให้เรารักษาความสะอาดส่วนตัวกันมากขึ้น ซึ่งเป็นข้อดีอย่างเดียวจริง ๆ แล้วที่เหลือก็...นะ
ที่น่าเห็นใจสุด ๆ ก็เพื่อนชาวเรือเรานี่แหละครับ เพราะมีอยู่จำนวนหนึ่งที่จากบ้านจากครอบครัวมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเมื่อปีกลาย (ก่อนเพื่อนตัวดีเกิดเสียอีก) จนวันนี้ยังไม่ได้กลับบ้าน ยังติดเกาะอยู่บนเรือ และยังรอคอย “ใคร” ทำอะไรสักอย่างอย่างด้วยความหวังเล็ก ๆ
ตามปกติ การทำงานออกเรือแต่ละครั้งจะกินเวลานานแรมเดือน ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วจะมีคนเรือสลับเปลี่ยนขึ้นลงเรือกันราว 100,000 คน/เดือน
แต่ตอนนี้บริษัทเรือหลายแห่งยกเลิกการสลับเปลี่ยนคนไปแบบไม่มีกำหนด และแทบทุกประเทศมีการล็อกดาวน์ ปฏิเสธคนเข้าออก ทำให้มีชาวเรือราว 150,000 คนทำได้แต่นั่งมองดูชายฝั่งจากบนเรือ
คงไม่ต้องเล่าว่าคนที่อยู่บนเรือนั้นเครียด กดดัน เบื่อ เซ็ง กันมากแค่ไหน? หากใครคิดไม่ออก ลองปิดห้องกักตัวเองโดยไม่ก้าวออกจากสัก 1 วันดู (หากเอาให้ซึ้งต้องห้ามเล่นเน็ตด้วยนะ เพราะเชื่อว่าบนเรือบางลำไม่มี)
เมื่อวันแรงงานที่ผ่านมา เวลาเที่ยงตรง เรือทั่วโลกเปิดหวูดสัญญาณพร้อมกันเพื่อเป็นการแสดงการให้กำลังใจกับชาวเรือ ผู้เป็นเสมือนวีรบุรุษผู้ปิดทองหลังพระของวงการการค้าโลก คนบนฝั่งก็ไม่น้อยหน้าร่วมเป่าเครื่องดนตรีกันอย่างพร้อมเพียงในกิจกรรมครั้งนี้ด้วย
เป็นเหตุการณ์เล็ก ๆ ที่ซาบซึ้งใจเป็นที่สุด
หากว่ากันตามกฎหมายสากล ชาวเรือทุกคนมีสิทธิ์ร้องขอให้ส่งตัวกลับบ้านเกิดได้โดยไม่ต้องเสียเงินสักแดงเดียว ทีนี้ปัญหาอยู่ที่ว่าใครเป็นคนรับผิดชอบ?
ตาม ‘Maritime Labour Convention 2006’ ซึ่งมีประเทศสมาชิกกว่า 90 ประเทศ ระบุไว้ว่าเป็นความรับผิดชอบของบริษัทเจ้าของเรือก่อนลำดับแรก ลำดับที่สองจึงเป็นประเทศที่เรือชักธง และหากยังไม่ได้อีก ความรับผิดชอบจึงเป็นหน้าที่ของประเทศที่เรือไปเทียบท่าหรือประเทศบ้านเกิดของลูกเรือเอง
ยามปกติ คงว่ากันไปตามนั้นได้โดยไม่มีข้อขัดข้อง แต่กับสถานการณ์ที่ทั่วโลกไม่เคยมีประสบการณ์รับมือมาก่อนแบบนี้ บางทีก็เคลียร์กันยากหน่อย แต่ก็ใช่ว่าเรื่องจากเงียบหายไป
สภาหอการค้าขนส่งทางเรือ (International Chamber of Shipping) และสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (International Transport Federation) ได้ออกประกาศว่าจะร่วมกันกระทำดังนี้:
- กำหนดสนามบินเฉพาะกิจและจำนวนจำกัดสำหรับเคลื่อนย้ายและส่งลูกเรือกลับประเทศบ้านเกิด
- กำหนดให้ชาวเรือเป็นคนงานสำคัญที่ให้บริการที่จำเป็นในช่วงการระบาดโควิด-19 โดยให้มีการงดเว้นข้อกำหนดที่ใช้กับผู้โดยสารและบุคคลากรที่ไม่มีความจำเป็น
- ออกแถลงการณ์พันธสัญญาร่วมกันว่าจะคงให้ซัพพลายเชนมีความราบรื่นต่อไปโดยวางมาตรการเร่งด่วนสำหรับประเด็นนี้
คงต้องรอดูผลงานของทั้ง 2 องค์กรว่าจะช่วยเหลือได้มากน้อยเพียงใดต่อไป
ยังพอมีเรื่องดี ๆ อยู่บ้างที่หลายประเทศไม่ได้สนว่าความรับผิดชอบของใครมาก่อนหลัง อย่างเช่นประเทศฟิลิปปินส์ที่เลือกใช้วิธีการละมุนละม่อมและให้ความช่วยเหลือโดยจัดเรือและไฟลท์บินเช่าเหมาเพื่อส่งชาวเรือให้ได้กลับบ้าน
อ้างอิง
- https://www.maritime-executive.com/article/seafarers-governments-need-to-step-up-on-repatriation
- https://www.maritime-executive.com/editorials/who-is-responsible-for-seafarers-left-stranded-by-the-pandemic
- https://theconversation.com/thousands-of-seafarers-are-stranded-aboard-ships-with-no-end-to-their-shift-in-sight-137324