ทุกสิ่งบนโลกล้วนเกิดขึ้นและดับไป เรือเดินทะเลเองก็หนีความจริงข้อนี้ไม่พ้น ปกติแล้ว อายุการใช้งานของเรือจะอยู่ที่ 25 - 30 ปี จึงสิ้นอายุขัย แต่เคยสงสัยมั้ยว่าเรือเหล่านั้นจากไปไหน?
ที่พำนักสุดท้ายของเรือทุกลำ
เรือที่หมดอายุการใช้งาน สุดท้าย...ก็กลายเป็นขยะ การปล่อยให้เรือจมลงใต้ทะเลหรือทิ้งไว้เฉย ๆ จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อธรรมชาติและเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก มันจึงต้องถูกส่งไปยังสถานที่ที่ซึ่งเรือที่เคยโอ่อ่าถูกแยกชิ้นส่วนออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย บางส่วนถูกกำจัด และมีบางส่วนถูกนำไปรีไซเคิล
โครงสร้างเรือเก่าจะเต็มไปด้วยวัสดุเป็นพิษ ทั้งแร่ใยหิน โลหะหนักจำพวกตะกั่ว ปรอท แคดเมียม สังกะสี ทองแดง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตมนุษย์ จำเป็นต้องถูกกำจัดอย่างเหมาะสมภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด
และยังมีวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ อาทิเช่น เหล็ก อะลูมิเนียม พลาสติก การนำสิ่งเหล่านี้มารีไซเคิลจะช่วยลดการสิ้นเปลืองทรัพยากรและพลังงานในการเสาะหาและผลิตวัสดุเหล่านี้ด้วย
ทุกปี มีเรือหมดสภาพราว 1,000 ลำ นับจนถึงทศวรรษที่ 1970 เรือหมดสภาพถูกส่งไปแยกชิ้นส่วนในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก แต่เมื่อกฎหมายสิ่งแวดล้อมเข้มงวดมากขึ้น อุตสาหกรรมนี้ได้ถูกโยกย้ายไปยังพื้นที่ที่กฎหมายด้านนี้ย่อหย่อนกว่า
ปัจจุบัน ชายหาดแถบเอเชียใต้เป็นจุดหมายยอดนิยมของเรือที่สิ้นอายุขัยแล้ว สถานที่แยกชิ้นส่วนเรือหรือสุสานเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก 3 แห่งคือ อู่แยกชิ้นส่วนเรือชิตตากอง (Chittagong) ประเทศบังกลาเทศ, อู่แยกชิ้นส่วนเรืออาลัง (Alang) ประเทศอินเดีย, และอู่แยกชิ้นส่วนเรือกาดานี (Gadani) ประเทศปากีสถาน
ที่น่าตกใจที่สุดคือ เรือมากกว่า 70% ที่ถูกส่งมายังสถานที่เหล่านี้ถูกแยกชิ้นส่วนบนชายหาดโล่ง ๆ สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อระบบนิเวศชายฝั่งและชุมชนใกล้เคียง
นอกจากนี้ ยังพบการเอารัดเอาเปรียบคนงาน ปัญหาการบาดเจ็บ โรคร้าย และการเสียชีวิต เนื่องจากสภาพแวดล้องการทำงานที่ไม่ปลอดภัย บวกกับการต้องสัมผัสวัสดุที่เป็นพิษโดยไร้อุปกรณ์ป้องกันอยู่ตลอดเวลา เพียงเพราะบริษัทแยกชิ้นส่วนเรือเหล่านี้ไร้ซึ่งศีลธรรมและอยากกอบโกยผลกำไรให้ได้มากที่สุด
จากการเก็บข้อมูลของ NGO Shipbreaking Platform พบว่าตั้งแต่ปี 2009 มีเรือกว่า 6,726 ลำถูกแยกชิ้นส่วนบนชายหาด 3 แห่งนี้ มีสถิติคนงานเสียชีวิตถึง 400 ราย และบาดเจ็บ 282 ราย
นอกจากสุสานเรือที่กล่าวไปแล้วนั้น จีนกับตุรกียังเป็นจุดหมายหลักที่เรือหมดสภาพถูกส่งไปแยกชิ้นส่วนเช่นกัน แต่ถือว่าเป็นไซต์งานที่มีมาตรฐาน สะอาดและปลอดภัยต่อการปฏิบัติงานแยกชิ้นส่วนเรือ
สร้างมาตรฐานการแยกชิ้นส่วนเรือ
ปี 2009 IMO (International Maritime Organization) ได้จัดการประชุมหัวข้อ “The Safe and Environmentally Sound Recycling of Ships” หรือการรีไซเคิลเรือที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ณ การประชุมนานาชาติฮ่องกง
ซึ่งการประชุมนี้มีจุดประสงค์ เพื่อให้การแยกชิ้นส่วนและการรีไซเคิลเรือหลังจากสิ้นอายุขัยไม่ก่ออันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการดูแลความปลอดภัยของคนงานในสถานที่แยกชิ้นส่วนเรือด้วย มีการกำหนดกฎข้อบังคับต่าง ๆ ร่างเป็นสนธิสัญญาร่วมกันในชื่อ The Hong Kong Convention
สนธิสัญญา The Hong Kong Convention มีรายละเอียดครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้าง การปฏิบัติงานและการเตรียมเรือเพื่อการรีไซเคิลอย่างปลอดภัยโดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ เรือที่หมดสภาพแล้ว ต้องทำรายการวัสดุอันตรายประจำเรือแต่ละลำก่อนที่จะส่งไปตามสถานที่แยกชิ้นส่วนเรือ และสถานที่นั้นต้องรจัดทำ “แผนรีไซเคิลเรือ” ระบุถึงขั้นตอนและวิธีการทำงานของเรือแต่ละลำอย่างชัดเจน ก่อนเริ่มดำเนินงาน
นับได้ว่า นี่คือความตั้งใจของ IMO ที่จะหาวิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นของการแยกชิ้นส่วนและรีไซเคิลเรือให้เป็นไปอย่างยั่งยืนและเกิดผลกระทบน้อยที่สุดในยุคที่อุตสาหกรรมการเดินเรือเติบโตขึ้น เพื่อให้การปลดระวางเรือในช่วงสุดท้ายของชีวิตนั้นเป็นไปอย่างราบรื่นและสงบสุข
อ้างอิง